กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
โรลส์-รอยซ์ พีแอลซี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการบินพาณิชย์ การบินทหาร การเดินเรือ และการพลังงาน จับมือ 19 สถาบันการศึกษาและวิจัยในยุโรป ทุ่มทุนกว่า 3,500 ล้านบาทริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์อากาศยาน เล็งสร้างแม่แบบเครื่องยนต์รุ่นใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งระบบ
มร. ฟิล รัฟเฟิลส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและเทคโนโลยีของโรลส์-รอยซ์ เปิดเผยว่า โรลส์-รอยซ์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรอุตสาหกรรม 15 แห่ง มหาวิทยาลัย 2 แห่ง และสถาบันวิจัยอีก 2 แห่งใน 9 ประเทศในยุโรป จัดตั้งโครงการเทคโนโลยีเครื่องยนต์อากาศยานประสิทธิภาพสูงและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Efficient and Environmentally Friendly Aero Engine (EEFAE) technology programme) เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาแม่แบบเครื่องยนต์อากาศยานรุ่นใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งระบบ โดยจะใช้เวลาในการวิจัย 4 ปี และใช้เงินทุนกว่า 3,500 ล้านบาท (100 ล้านยูโร) ซึ่งถือเป็นโครงการวิจัยด้านเครื่องยนต์การบินที่ใหญ่ที่สุดของประชาคมยุโรป
“โครงการวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีสมรรถนะการบินสูงขึ้น และลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของเครื่องยนต์ ทั้งนี้ เป้าหมายการวิจัยเบื้องต้นอยู่ที่การลดจำนวนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ และยืดอายุการใช้งานของส่วนประกอบสำคัญ นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ยังเป็นแกนนำในโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์แบบ 3 เพลา ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ระดับการปล่อยไอเสียต่ำ และราคาปานกลาง (Affordable Near Term Low Emissions —ANTEL) โดยจะใช้เงินทุนในการประดิษฐ์แม่แบบเครื่องยนต์ประมาณ 1,800 ล้านบาท (50 ล้านยูโร)” มร. รัฟเฟิลส์ กล่าว
นอกจากนี้ โครงการ EEFAE ยังจะรวบรวมผลการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีเครื่องยนต์การบินในภาคพื้นยุโรป ทั้งจากโครงการระดับชาติและโครงการที่สนับสนุนโดยกองทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการเยอรมันอี3อี (German Environment, Economy and Efficiency- German E3E) มาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลการวิจัยทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่แม่นยำและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตลาดเครื่องยนต์การบิน โดยมีเป้าหมายที่จะนำผลการวิจัยเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้จริงภายในปี พ.ศ. 2551
อนึ่ง โครงการ EEFAE จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เทอร์บายน์ระบบรวมที่มีสมรรถนะสูง (Integrated High Performance Turbine Engine Technology--IHPTET) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเครื่องยนต์สำหรับการบินทหารของสหรัฐอเมริกา ที่มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตลอดวงจรชีวิตเครื่องยนต์และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการประหยัดน้ำมันและการลดระดับมลพิษจากท่อไอเสียและชิ้นส่วนเครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์ร่วมโครงการพัฒนาเครื่องยนต์อากาศยานเพื่อสิ่งแวดล้อม
“ในระยะยาวโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์จะเป็นรากฐานสำคัญในการเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของชุมชนและตลาดการบินในอนาคต ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากผลงานวิจัยในครั้งนี้ก็คือ ผู้โดยสาร สายการบิน และสนามบินทั่วโลกนั่นเอง” มร. รัฟเฟิลส์ กล่าวในที่สุด
ข้อมูลสำหรับโรลส์-รอยซ์ พีแอลซี
โรลส์-รอยซ์ พีแอลซี เป็นองค์กรระดับโลกที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตของอุตสาหกรรมการบินพลเรือน การบินทหาร และการพลังงาน ปัจจุบันมีฐานปฏิบัติการอยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลก เทคโนโลยีแก๊สเทอร์บายน์ที่เป็นหัวใจสำคัญของโรลส์-รอยซ์คือเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์กลุ่มเครื่องยนต์อากาศยานที่มีความหลากหลายที่สุดในโลก ปัจจุบันเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ 55,000 ลำ ติดตั้งให้บริการอยู่ตามสายการบินชั้นนำ 300 แห่ง องค์กรธุรกิจและผู้ให้บริการทางด้านการบิน 2,400 แห่ง และกองทัพมากกว่า 100 แห่ง โดยจัดเป็นเครื่องยนต์ประเภทขับเคลื่อนเครื่องบินปีกนิ่ง (Fixed Wing Aircraft) และเครื่องบินปีกหมุน (Rotary Wing Aircraft) นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ยังเป็นผู้ให้บริการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำให้แก่กองทัพเรืออีกกว่า 30 แห่ง ตลาดอุตสาหกรรมพลังงานของ โรลส์-รอยซ์รวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมก๊าซ และการผลิตพลังงาน
โรลส์-รอยซ์ คือผู้นำทางด้านเทคโนโลยีแก๊สเทอร์บายน์สำหรับการบิน การผลิตพลังงาน และการผลิตเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำ ปัจจุบันบริษัทฯ มีส่วนร่วมในโครงการเพื่ออนาคตที่สำคัญ ๆ หลายโครงการในอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว รวมทั้งโครงการเครื่องยนต์การบินและอุตสาหกรรมในตระกูล เทรนท์ โครงการเครื่องยนตร์ยูโรไฟท์เตอร์ ไทฟูน (Eurofighter Typhoon) และจ๊อยท์ สไตร้ค ไฟท์เตอร์ (Joint Strike Fighter) และโครงการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำ ดับเบิ้ลยูอาร์ 21 (WR21)
โรลส์-รอยซ์รักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงกับสายการบินไทยและกองทัพไทยมาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ความร่วมมือล่าสุดนำมาซึ่งการเปิดตัวเครื่องยนต์เทรนท์บนฝูงบินโบอิ้งรุ่น 777-200 ของสายการบินไทยเป็นแห่งแรก และการเปิดอาคารทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ (Test Cell) ของสายการบินไทยแห่งใหม่ที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตพลังงานของโรลส์-รอยซ์กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยบริษัทในประเทศไทยหลายแห่งและในอุตสาหกรรมหลายประเภท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด คุณเสาวภา ด้วงใส Tel. 6582-6111 Fax. 658-6125--จบ--
-อน-