กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) เชิญร่วมสืบสาน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ชมการแสดงโขนผู้หญิงจันทรเกษม ฉลองครบรอบ 10 ปี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด นางลอย ในวันที่ 4 – 5 เมษายน 2560 ณ สนามกีฬาในร่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทเกษม เวลา 19.00 – 21.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0 2942 5800 และ 0 2942 6800 หรือที่ Line ID : khoncru2560 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายธรรมรัตน์ โถวสกุล ประธานสาขาวิชานาฏศิลป์และศิลปการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) กล่าวว่า การแสดงโขนผู้หญิงจันทรเกษม เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 จากการศึกษาค้นคว้า เพื่อประกอบรายวิชาการสร้างละครรำของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในขณะนั้น ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ต้องการที่จะสืบสานศิลปะการแสดงโขน ซึ่งนับวันจะหาชมได้อยาก อีกทั้งศิลปะการแสดงโขนยังเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย เนื่องจากเป็นการแสดงที่มีประวัติยาวนาน และต้องผสมผสานศิลปะหลากหลายแขนงของไทยเข้าไว้ด้วยกัน
"การแสดงโขนผู้หญิงจันทรเกษมนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการลงมือปฏิบัติแทบจะทุกขั้นตอน แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ฯ เท่านั้น มีการเปิดรับสมัครนักแสดงจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมแสดงด้วย เพราะโขนถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทุกๆ คนสามารถมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานความงดงามนั้นให้คงอยู่ต่อไปได้" นายธรรมรัตน์ กล่าว
นายธรรมรัตน์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ การแสดงโขนผู้หญิงจันทรเกษม ครบรอบ 10 ปี จัดแสดงในเรื่องรามเกียรติ์ ชุด นางลอย เป็นการนำตอนที่เคยแสดงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลับมาแสดงอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการแสดงโขนหน้าจอ ซึ่งในสมัยโบราณนั้นจะแสดงโขนแทรกเข้าไปในการแสดงหนังใหญ่ ต่อมาภายหลังเหลือการแสดงโขนเพียงอย่างเดียว เพื่อฉลองในวาระพิเศษนี้ก็จะมีการนำหนังใหญ่มาแสดงร่วมด้วย นับว่าหาชมได้ยาก เป็นการนำเอาศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยมาแสดงร่วมกัน ประกอบกับระบบ แสง สี เสียง ที่จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น พร้อมนักแสดงทั้ง ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน กว่า 50 คน
"โขนผู้หญิงจันทรเกษม เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมการแสดงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงและซึมซับการแสดงอันเป็นศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของไทยนี้ มหาวิทยาลัยและสาขาวิชาหวังเพียงให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสวยงาม ตระหนักถึงคุณค่า ความงดงามในมรดกที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยช่วยกันสนับสนุน ให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านนี้ ได้ทำการสืบสานและรักษาสืบไป" นายธรรมรัตน์ กล่าว