กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงาน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ และเชียงราย คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ปภ.ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและอำเภอ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ริมทางหลวงอย่างเคร่งครัด อีกทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการระงับไฟป่า ระดมรถบรรทุกน้ำและเครื่องมือฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น. พบว่า 9 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 72 - 233 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี 5 จังหวัด คุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ลำปาง ในพื้นที่ 2 อำเภอ แยกเป็น อำเภอเมืองลำปาง ตำบลพระบาท ค่า PM10 183 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 128 อำเภอ แม่เมาะ จำนวน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านดง ค่า PM10 233 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 149 ตำบลแม่เมาะ ค่า PM10 151 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 114 แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ค่า PM10 155 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 116 ตาก ในพื้นที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ค่า PM10 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 112แพร่ ในพื้นที่ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ ค่าPM10 126 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 103 และเชียงราย ในพื้นที่ตำบลเวียงพางคำ ค่า PM10 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า AQI 101 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและอำเภอ เป็นศูนย์กลาง ในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดกำลังอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่าและเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผา พื้นที่เกษตรกรรม ให้กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา ส่วนพื้นที่ริมทางหลวง ให้เฝ้าระวังการเผาในเขตริมทางหลวงอย่างเข้มข้น อีกทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการระงับไฟป่า ระดมรถบรรทุกน้ำและเครื่องมือฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมประชาสัมพันธ์ผลกระทบ ของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และข้อมูลคุณภาพอากาศ รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน เป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป