ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บง. ทิสโก้” ที่ “A/Positive”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 8, 2005 08:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทในระดับเดิมที่ “A” พร้อมแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” โดยอันดับเครดิตสะท้อนความสามารถของผู้บริหาร ระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี ฐานะทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนสถานะไปสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์และแนวโน้มของตลาดสินเชื่อรายย่อยที่บ่งชี้ถึงอัตราผู้ใช้บริการที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแนวโน้มของตลาดหุ้นที่จะได้รับแรงกระตุ้นจากหุ้นใหม่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากกำลังซื้อที่ลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนในธุรกิจหลักทรัพย์ และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจทั่วไปและสินเชื่อรายย่อย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บง. ทิสโก้ มีขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของบริษัทเงินทุนทั้ง 7 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีขนาดเป็นอันดับ 12 ของธนาคารพาณิชย์ไทยและบริษัทเงินทุนทั้งหมด ประสบการณ์กว่า 30 ปีทำให้บริษัทสามารถพัฒนาคณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้สามารถแข่งขันในธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงนี้ได้ การมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีและคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานจะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทในอนาคตได้ ผู้บริหารของบริษัทมีนโยบายชัดเจนในการเน้นธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลและการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ปี 2545 บริษัทได้รวมศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจและระบบการบริหารของกลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการควบคุมธุรกิจและประสิทธิภาพด้านต้นทุนของกลุ่มโดยรวม คาดว่าการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์จะมีผลกระทบส่วนหนึ่งต่อผลตอบแทนทางการเงินของบริษัทในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนแต่จะสร้างโอกาสในระยะยาวแก่บริษัทในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สินเชื่อเช่าซื้อใหม่ของ บง. ทิสโก้ เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 50% ต่อปีในช่วงปี 2543 ถึงครึ่งแรกของปี 2547 และสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2546 บริษัทอยู่ในอันดับ 4 ของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 11% และยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 ที่ระดับ 31,403 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 35,914 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 (64% ของยอดคงค้างสินเชื่อตามงบการเงินรวมของบริษัท) ธุรกิจบริการทางการเงินที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมและธุรกิจบริหารจัดการกองทุนช่วยให้บริษัทสามารถกระจายฐานรายได้มากขึ้น โครงการพัฒนางานวิจัยหลักทรัพย์ร่วมกับGlobal Equities Asia (GEA) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Deutsche Bank ช่วยเพิ่มสถานะการแข่งขันในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 2.87% ของมูลค่าซื้อขายรวมในปี 2544 เป็นประมาณ 3.53% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 สำหรับธุรกิจบริหารจัดการกองทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 บริษัทบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดคงตัวที่ประมาณ 14% ในขณะเดียวกัน บริษัทบริหารกองทุนส่วนบุคคลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 12% อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดในการบริหารกองทุนรวมระดับประมาณ 2% ทำให้บริษัทอยู่ในอันดับที่ 12 จากผู้จัดการกองทุนที่ให้บริการทั้งหมด 15 แห่ง
ด้วยระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรม คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อใช้นิยามของสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว สัดส่วนสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของบริษัทลดลงอย่างชัดเจนจาก 35.16% ในปี 2542 เป็น 6.69% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 สำหรับธุรกิจเช่าซื้อ สินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้มีสัดส่วน 1.5% ของสินเชื่อเช่าซื้อรวม ณ เดือนธันวาคม 2546 ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 1% ของผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นลูกค้าของทริสเรทติ้ง ฐานะทางการเงินของบริษัทพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยและต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ที่ 20.40% และ 3.45% ในปี 2546 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยและสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 9.21% และ 1.61% ตามลำดับ ฐานะการเงินที่ดีขึ้นช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุนของบริษัท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 39% จาก 7,379 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 10,375 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 สัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 16.82% ในปี 2544 เป็น 21.42% ในปี 2546 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2546 สัดส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ในระดับ 19.26% เนื่องจากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 649 ล้านบาทในวันที่ 28 เมษายน 2547 อย่างไรก็ตาม ระดับเงินกองทุนดังกล่าวถือว่าเพียงพอที่จะรองรับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์และรองรับการขยายตัวของบริษัทในการเป็นธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ