กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--Brainasia Communication
ขณะที่การคมนาคมขนส่งทางรางมีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คาดกันว่าประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรระบบขนส่งทางรางรวม 24,000 คน ซึ่งมีทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค และสาขาอื่นๆ จึงมีคำถามว่าจะผลิตและพัฒนาบุคคลากรระบบรางเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า 11 สายใน กทม.และปริมณฑล
ที่เปิดบริการไปแล้ว 1 สาย คือ สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ, ส่วนอีก 10 สายนั้นอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยจะแล้วเสร็จในปี 2561 – 2565 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ท่าพระ-บางซื่อ, สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ, สายสีเขียว หมอชิต-คูคต, สายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต),สายสีแดงอ่อน (ชานเมือง) บางซื่อ-หัวหมาก, สายสีแดงเชื่อมแอร์พอร์ตลิ้งค์ ดอนเมือง-พญาไท, สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี,สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย รศ.ดร.จารุวัตร เจริญสุข หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า ระบบขนส่งทางรางเป็นเทรนด์ของการพัฒนาเมืองทั่วโลกและเป็นทางเลือกของประชาชนในการเดินทางในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดพลังงานและปลอดภัย รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งซึ่งบ้านเรามีมูลค่าสูงปีละ 1.75 ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนทีสูงเมื่อเทียบกับจีดีพีรวมของประเทศที่มีมูลค่า 11.5 ล้านล้านบาท จากแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ปี 2558 – 2565 ครอบคลุม โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสำหรับวิ่งระยะทางไกลและนวัตกรรมบริการ รถไฟโดยสารระหว่างเมืองและรถไฟขนส่งสินค้า เราควรเร่งส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยพัฒนาบริการและผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆด้วย เนื่องจากเรามีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่น ๆ ส่วนคุณสมบัติและความท้าทายของ วิศวกรระบบรางในยุค 4.0 จะต้องเรียนรู้ ปรับตัวให้มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ สามารถเชื่อมโยงกับดิจิตัลและอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IOT: Internet of things) นำข้อมูลและการเชื่อมต่อมาใช้ในการบริหารจัดการ พัฒนาบริการและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้น ทั้งเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น
ผศ.ดร.มนต์ศักดิ์ พิมสาร ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางส่วนใหญ่อยู่ในระดับวิศวกรทั่วไป เรายังขาดแคลนทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคด้านการบำรุงรักษาระบบรางและการจัดการระบบราง จากที่ สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้คาดการณ์ความต้องการบุคลากรระบบราง เพื่อรองรับรถไฟ 11 สาย ในระหว่างปี 2558 – 2565 มีจำนวนรวม 24,000 คนนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่าแบ่งเป็นวิศวกร 4,500 คน ช่างเทคนิค 9,100 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ อีก 10,400 คน ประเทศไทยน่าจะผลิตได้เพียงพอ จากการพัฒนาบุคลากรในความร่วมมือของ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ, ภาคผู้ประกอบการเดินรถไฟ, ภาคการศึกษา และสถาบันวิจัย โดยแบ่งเป็นการผลิตบุคคลากรใหม่ เช่น หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางในระดับปริญญาตรี, หลักสูตรอนุปริญญาช่างเทคนิค, การฝึกอบรมพัฒนาโดยผู้ประกอบการขนส่งทางรางและผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทยซึงขณะนี้มีความต้องการ 8,000 ตำแหน่ง เพื่อรองรับภารกิจโดยยังไม่รวมโครงการรถไฟไทย-จีน
ประสานพลังประชารัฐและภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย 7 แห่งและเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวะศึกษาต่างๆเร่งผลิตวิศวกร ผู้ช่วยวิศวกร และช่างเทคนิคระบบราง เตรียมความพร้อมบุคคลากรอย่างเพียงพอที่จะรองรับระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางมาตรฐาน ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เปิด หลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมขนส่งทางราง เป็นแห่งแรกของไทยและอาเซียน เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2556 ซึ่งได้เปิดรับนักศึกษามาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น มีนักศึกษารวม 150 คน และในปีการศึกษา 2560 จะเปิดรับ 40 คน หลักสูตรที่ตอบโจทย์และห้องแล็บที่ก้าวหน้าทันสมัยช่วยให้องค์กรต่างๆ ประหยัดระยะเวลาในการฝึกงานเมื่อรับเข้าทำงาน หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางมุ่งเน้นเทคโนโลยีและการจัดการการขนส่งทางราง องค์ประกอบและการออกแบบระบบรางรถไฟ การตัดรางรถไฟ การซ่อมบำรุงรถไฟ ศึกษาการทำงานของระบบต่าง ๆ ของรถไฟ การวิเคราะห์แรงต้านและการใช้พลังงานของรถไฟ รวมถึงด้านการควบคุมการจราจรของรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณ (Rail Signaling) และการวางแผนงานระบบขนส่งทางราง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ความปลอดภัยของการเดินรถไฟและรางรถไฟ
ประชาชนคนกรุงเทพฯ หวังว่าการพัฒนาคุณภาพระบบรางให้ทัดเทียมนานาประเทศและรองรับวิถีใหม่ไทยแลนด์ 4.0 จะนำมาซึ่งการเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ความปลอดภัย บริการที่ทันสมัยและสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการซ่อมบำรุง และป้องกันอุบัติเหตุด้วย