ความคืบหน้าของโครงการต่างๆที่ดำเนินงานโดยศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2001 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
พัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการยกระดับมาตรฐานการทำงานและการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดตราสารหนี้
นับแต่การเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ปลายปี 2541 ศูนย์ซื้อขายได้ดำเนินการจัดระบบการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้โดยการกำหนดมาตรฐานงานทะเบียนต่างๆขึ้นเพื่อประโยชน์และเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนรวมทั้งมีความเป็นมาตรฐานของตราสารหนี้โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลดีต่อการค้าในตลาดรอง ศูนย์ซื้อขายยังทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการคำนวณราคาตราสารหนี้ในตลาดรอง โดยสูตรการคำนวณเหล่านี้ได้ใช้เป็นที่แพร่หลายและเป็นแหล่งอ้างอิงในปัจจุบันของตลาดตราสารหนี้ สำหรับข้อมูลการซื้อขายและราคาปิดของตราสารหนี้ที่ศูนย์ซื้อขายประกาศทุกๆวันทำการนั้น เป็นข้อมูลที่นักลงทุนได้นำไปบันทึกมูลค่า (Mark to Market) ตราสารหนี้ของตน ณ วันสิ้นงวด นักลงทุนเหล่านี้ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และพอร์ทการลงทุนของสถาบันต่างๆ
ปัจจุบันศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลการค้าตราสารหนี้ของทั้งตลาด ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์จากสำนักงาน กลต. จะต้องรายงานปริมาณการค้าตราสารหนี้ของตนต่อศูนย์ซื้อขายฯทุกๆวันทำการตามประกาศคณะกรรมการ กลต. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2543 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ศูนย์ซื้อขายฯได้ออกประกาศเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ค้าตราสารหนี้ที่เป็นข้อกำหนดให้ผู้ที่ทำหน้าที่ค้าตราสารหนี้ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายฯตามประกาศของคณะกรรมการ กลต. ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 สิงหาคม 2543 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของผู้ที่มีหน้าที่ค้าตราสารหนี้และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ค้าตราสารหนี้มีความรู้ด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและมีจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน ตลอดจนทราบถึงประเพณีการปฏิบัติของการค้าตราสารหนี้ (Bond market convention) ศูนย์ซื้อขายฯได้ดำเนินการให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบได้ขึ้นทะเบียน โดยการทดสอบครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2543ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการขึ้นทะเบียนครั้งแรกศูนย์ซื้อขายฯจึงได้ผ่อนผันให้ผู้ที่ทำหน้าที่ค้าตราสารหนี้ในปัจจุบันต้องผ่านการทดสอบภายในระยะเวลา 12 เดือน สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติแต่มิได้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ ณ วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้คือวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ต้องผ่านการทดสอบก่อนจึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าตราสารหนี้กับศูนย์ซื้อขายฯ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนงานที่กำหนดไว้ ได้แก่
1. ธุรกรรมซื้อคืน (Repo)
ด้านกฎหมาย : ศูนย์ซื้อขายฯได้แนะนำให้ใช้ TBMA/ISMA Global Master Repurchase Agreement (GMRA) เป็นสัญญามาตรฐานในการทำธุรกรรม
ด้านบัญชี : ศูนย์ซื้อขายฯได้จัดทำและเสนอแนวทางการลงบัญชีของธุรกรรมซื้อคืนไปยังสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุมัติและคาดว่าสมาคมฯจะสามารถอนุมัติได้ภายในเดือนมกราคม 2544
ด้านระบบข้อมูล : ศูนย์ซื้อขายฯเริ่มเผยแพร่ข้อมูลราคาอ้างอิงสำหรับพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (SOE Bond) ผ่านทาง Website www.thaibdc.or.th เพื่อใช้ในการ mark to market และการทำธุรกรรม Repo
2. การพัฒนาระบบการซื้อขายตราสารหนี้
พิจารณาทางเลือกต่างๆของการการพัฒนาระบบการซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการซื้อขายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาด และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลราคาซื้อขาย อันจะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องและความโปร่งใสของตลาด
3. การพัฒนาระบบการชำระราคาและส่งมอบ
ศูนย์ซื้อขายฯเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ธปท. และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อหารือในการปรับปรุงประสิทธิภาพและทำให้เกิดการรวมศูนย์ของการชำระราคาและส่งมอบทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน
4.การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ศูนย์ซื้อขายฯได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาตลาด เช่น การพัฒนาโครงสร้างของตลาดตราสารหนี้ การส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน การกระจายการลงทุนไปสู่นักลงทุนทั่วไป การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่างๆของตลาด เช่น มาตรฐานการคำนวณราคาของตราสารหนี้ประเภทต่างๆ มาตรฐานหนังสือชี้ชวน การพัฒนาความรู้ความสามารถและการปฏิบัติงานของบุคลากร การสนับสนุนให้บล.มีส่วนร่วมในตลาดมากขึ้น และ การทำหน้าที่ SRO ของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย เป็นต้น
5. การส่งเสริมให้มีการใช้ Securitization เพื่อช่วยส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของภาคธุรกิจ โดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคของการทำ Securitization
6. การปรับปรุงระบบสารสนเทศข้อมูลตราสารหนี้ (Bond Information Service)
- การปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง
- การเชื่อมโยงระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ กับแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ออกตราสารหนี้ หน่วยราชการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ