กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
อ. สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการชื่อดังของเมืองไทย ชายวัย 67 ปีรูปร่างสันทัด ท่าทางกระฉับกระเฉงเกินคนในวัยเดียวกัน เจ้าของทฤษฎีการกินเพื่อชะลอวัยที่ใครหลายคนยกย่องปฏิบัติ ได้ให้นิยามของ Active Aging Society หรือ สังคมพฤฒพลัง ว่าเป็นสังคมที่ผลักดันให้ผู้สูงวัยที่สามารถใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาตัวเอง มีสุขภาพแข็งแรง มีโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการใช้ชีวิตรอบด้าน ขณะเดียวกันก็รองรับผู้สูงวัยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สังคมผู้สูงที่ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องของคนแก่ จึงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนแก่อีกต่อไป อ.สง่าจึงได้เผย 7 เรื่อง "คนแก่" ที่คนไม่แก่ควรรู้!
1. เมื่อ 60 ไม่ใช่วัยแก่อีกต่อไป
อ.สง่า เผยว่าในระยะหลังจะนำสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายมาเป็นตัวบ่งชี้ความแก่ของคน ดังนั้นหากคนที่อายุ60 ปี สุขภาพดี ร่างกายอ่อนกว่าวัยก็ยังไม่ถือว่าคนๆนั้นเป็นผู้สูงอายุ ในบางประเทศมีการนับอายุคนแก่จาก 65 หรือ70 ปีขึ้นไป จึงเห็นได้ว่าความแก่จึงไม่ใช่เรื่องของอายุอย่างเดียว2. แก่อย่างไร วางแผนได้ตั้งแต่วัยกลางคน
การวางแผนบั้นปลายชีวิตสามารรถทำได้ตั้งแต่ "วัยกลางคน" หรืออายุ 40 ปีก็ ซึ่งเรื่องใหญ่ของคนวัยนี้คือมักคิดว่าตัวเองแก่ ความกระตือรือร้นกับชีวิตจะลดน้อยถอยลง นำไปสู่ความท้อแท้ในชีวิต อายุ 30 - 40 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการวางแผนที่จะแก่อย่างจริงจัง ทั้งความคิด สุขภาพ เรื่องต่างๆ ในชีวิต หากวางแผนดี ดูแลสุขภาพจริงจัง เมื่อเข้าเลข 6 คุณก็จะเป็นคนแก่ที่อ่อนกว่าวัยอย่างไม่ต้องสงสัย3. การพึ่งพาตัวเองได้ คือหัวใจของการเป็น Smart Senior
Smart Senior คือผู้สูงวัยที่สามารถพึ่งพาตัวเองและยังสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างสง่างาม ยังกระฉับกระเฉงทั้งร่างกาย ความคิดและจิตใจ ซึ่งแม้ว่าผู้สูงวัยหลายคนจะมีความคิดว่า เมื่อแก่ตัวลงจะต้องมีโรค ต้องเจียมตัว ซึ่งในความเป็นจริงผู้สูงวัยเป็นวัยที่ยังสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ หากดูแลสุขภาพและวางแผนเรื่องต่างๆในชีวิตตั้งแต่เนิ่นๆ การเป็น Smart Senior ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม4. สุขภาพคือเรื่องแรกที่ต้องเตรียมตัว
"สุขภาพ" เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คนที่ยังไม่แก่ ต้องคิดไว้เลยว่าเมื่ออายุ 60-70 แล้ว เราต้องช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่พึ่งพิงคนอื่น ต้องวางแผนตั้งแต่อายุ 40 เป็นต้นไป พอถึง 60 เนี่ย ผมมั่นใจเลยว่าช่วงเวลา20 ปีในการดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย กินอาหารให้ถูกต้อง ควบคุมอารมณ์ให้เป็น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะเป็นกำไรชีวิตที่เราสะสมไว้เพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีพลังและมีคุณภาพ5. คุณค่าของการเป็นผู้สูงวัย คือความภาคภูมิใจกับชีวิต
ความภาคภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมาของผู้สูงวัยกับสิ่งที่ได้เคยทำประโยชน์ให้ครอบครัวและสังคม เป็นสิ่งที่จะช่วยพยุงจิตใจให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า แม้จะอยู่ในวัยที่ไม่ได้ตรากตรำทำงานเหมือนแต่ก่อน ขณะเดียวกันก็ยังคงมีคุณค่ากับปัจจุบันเพราะสามารถเป็นที่พึ่งพาของลูกหลานได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
6. หันมาสนใจเรื่องที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม
จากโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถอยู่กันเป็นครอบครัวได้อย่างเมื่อก่อน ผนวกกับสังคมที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องหันมาสนใจ เพราะนอกการมีโครงสร้างและสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยแล้ว ยังมีสังคม สิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมรองรับให้ทั้งผู้สูงวัยและสมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกผู้สูงวัยให้ออกไปอยู่โดดเดี่ยว7. "คนที่กำลังจะแก่" และ "คนที่แก่แล้ว" ควรคิดอย่างไร
คนที่กำลังอยู่ในวัยกลางคน อายุ 30 - 40 ปี ควรถามตัวเองว่าในอีก 10 20 30 ปีข้างหน้าจะเป็นคนแก่แบบไหน ซึ่งถ้าอยากเป็นแบบไหน เราสามารถวางแผนได้ตั้งแต่วันนี้โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ขณะที่ผู้สูงวัยต้องมั่นใจในตัวเองว่าสามารถทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าได้ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด กินให้เป็น นอนให้หลับ ละซึ่งความเครียด ก็จะนำไปสู่การเป็นคนแก่ที่มีความสุขได้ไม่ยาก
ถึงตรงนี้ เรื่องของคนแก่ คงไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัยที่จะต้องให้ความสำคัญแล้วเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ตระหนักรู้ดีว่า "อายุกำลังเพิ่มขึ้น" และคนที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน ทำให้เห็นว่าเรื่องของสังคมผู้สูงวัยนั้นใกล้ตัวเราทุกคนมากกว่าที่คิด เพราะเราต่างก็เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมพฤฒพลัง หรือ Active Aging Society ให้ดำเนินไปอย่างอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด