PwC คาดตลาดเติบโตสูง ผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 64 แนะเจาะ 4 อุตสาหกรรมน่าลงทุนในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 27, 2017 12:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--PwC ประเทศไทย PwC เผยตลาดเติบโตสูงจะขึ้นเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 64 โดยจะมีจีดีพีสูงเกือบสองเท่าของประเทศในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว ชี้ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในตลาดจะสร้างโอกาสการทำธุรกิจอย่างมหาศาล พร้อมแนะผู้ประกอบการเจาะตลาดใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ได้แก่ เกษตร บริการสุขภาพและการศึกษา การผลิต และบริการทางการเงิน โดยต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ประยุกต์ใช้นวัตกรรม และมีแผนการเข้าถึงตลาดที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่รัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการลงทุนจากเอกชน นาย เดวิด วิเจอร์ราตน่า หัวหน้าฝ่ายงานศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูง บริษัท PwC ประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยถึงรายงานประจำปี Winning in maturing markets ซึ่งทำการวิเคราะห์โอกาสและกลยุทธ์การทำธุรกิจในกลุ่มตลาดเติบโตสูง (Growth markets) ว่า กลุ่มตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง หรือเรียกอีกอย่างว่า กลุ่มตลาดกำลังพัฒนา (Emerging markets) จะกลายเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกภายในปี 2564 ได้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะได้รับแรงกดดันจากความผันผวนต่างๆ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อความน่าดึงดูดของการเข้ามาลงทุนและแนวโน้มการเติบโตของตลาดนี้ในระยะข้างหน้า "ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ปี 2560 เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเติบโตของกลุ่มตลาดเติบโตสูง ที่กำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคที่ภาวะตลาดกำลังเติบโตและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีของตลาดนี้จะสูงเกือบเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วในปี 2564 และมีสัดส่วนคิดเป็น 65% ของจีดีพีโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการที่ยังมีอีกมาก ขณะที่จำนวนประชากรอีกหลายพันล้านคนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะเข้ามาเสริมกับจำนวนชนชั้นกลางในตลาดนี้" นาย เดวิด กล่าว ข้อมูลของ PwC ระบุว่า ในปี 2573 จะมีชนชั้นกลางมากถึง 2 ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ประชากรมากกว่า 50% ของตลาดเกิดใหม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตลาดเติบโตสูงทั่วโลก เช่น บราซิล รัสเซีย และกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกตกต่ำ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนไหลออก ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างจีน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ออกมาแสดงความกังวลและตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี รายงานของ PwC ระบุว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นลักษณะประการหนึ่งของการที่ตลาดกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพ (Stable markets) มากขึ้น นักลงทุนไม่ควรพิจารณาแต่จีดีพีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจถึงบริบทและตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของแต่ละตลาด รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตนั้นๆ เพื่อให้สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ รายงานระบุว่า 6 อุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง รอให้ผู้ประกอบการเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture) อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและการศึกษา (Health and Education) อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) อุตสาหกรรมค้าปลีกและสินค้าอุปโภคและบริโภค (Retail and Consumer goods) อุตสาหกรรมขนส่งและโทรคมนาคม (Transport and Communications) และอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) ชี้ช่องโอกาสทางธุรกิจใน 4 อุตสาหกรรมของไทย นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของประเทศไทย ตนมองว่ายังมีโอกาสอีกมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการทั้งภายในและนอกประเทศในการเข้ามาเจาะตลาด ขยายฐานการผลิต และการลงทุน ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่า ในปีนี้จีดีพีของไทยจะเติบโตอยู่ที่ราว 3-4% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 3.2% ขณะที่หลายอุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพยังต้องการการพัฒนาและมีโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าไปต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ มองว่า มี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมในไทยที่มีโอกาสในการเติบโตอย่างโดดเด่น ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการเกษตร ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศ ล้วนเป็นแรงงานที่มาจากภาคการเกษตร เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ที่มีแรงงานในกลุ่มนี้เพียง 1-2% เท่านั้น นอกจากนี้ การที่ภาครัฐฯ ส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) ยิ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ แต่อย่างไรก็ดี ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรมและผลผลิตที่ไม่รองรับการเติบโตในอนาคต ยกตัวอย่าง ไทยมีที่ดินทำกินภายใต้ระบบชลประทานเพียง 40% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ในขณะที่ผลผลิตธัญพืชมีปริมาณเพียง 3,600 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ซึ่งน้อยกว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยของโลกที่ราว 3,886 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมการเกษตรจึงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เครื่องจักรเพื่อการเพาะปลูก การนำเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถส่งข้อมูลระหว่างกันผ่านแอปพลิเคชัน (Machine-to-machine applications) และบริการเสริมด้านการเกษตรผ่านระบบมือถือ (Mobile value-added services) เพื่อช่วยในการเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตร ตรวจสอบสภาพอากาศ และราคาสินค้าแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับความพยายามของรัฐฯ ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมนี้ไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพาะปลูก เช่น หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและอื่นๆ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย 2. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและการศึกษา ตลาดบริการสุขภาพทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2565 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของตลาดเติบโตสูง จะอยู่ที่ราว 10.7% ต่อปี เปรียบเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วที่ 3.7% ต่อปี และมีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายต่อปีของตลาดเติบโตสูงจะแตะ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน โดยไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตด้านการใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าจีดีพี เช่นเดียวกับ จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ เทรนด์ของการนำระบบดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ (Digital Health) มาใช้ยกระดับการให้บริการ โดยเฉพาะในตลาดเติบโตสูงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ยังช่วยลดต้นทุนและทรัพยากรทางการแพทย์ ในปัจจุบัน สถานพยาบาลหลายแห่งได้มีการใช้โซลูชันทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบสนันสนุนการตัดสินใจ เทคโนโลยีบนระบบคลาวด์และระบบซอฟต์แวร์แบบเปิด (Cloud-based and open source systems) การสั่งยาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-prescription) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือ เทรนด์ของการประกันสุขภาพส่วนบุคคล ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมูลค่าเงินลงทุนด้านดิจิทัลเฮลธ์ทั่วโลกในช่วงปี 2557-2558 ที่ผ่านมาสูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในส่วนของระบบการศึกษา ไทยยังมีข้อจำกัดในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ทำให้เยาวชนที่มีโอกาสและความสามารถจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะศึกษาต่อและทำงานในต่างประเทศแทน นี่จึงเป็นโอกาสในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการในการขยายช่องทางการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด e-learning ซึ่งคาดว่า ในปี 2563 ตลาด e-learning ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 126 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย นำโดย จีน อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย และเวียดนามจะก้าวเป็นผู้นำตลาดในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่า มูลค่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ยที่ 26% ต่อปี ส่งผลให้ตลาดอาเซียนจะมีความต้องการคอนเทนต์ด้านการศึกษาเป็นอันดับ 1 3. อุตสาหกรรมการผลิต เป็นที่ทราบดีว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตของโลก อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนรายใหญ่ของอาเซียน แต่หากไทยต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันไปอีกขั้น ต้องเร่งขยายตลาดไปสู่กลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ เคมี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถหลักด้วยการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต รวมทั้งทำการประเมินฟุตพริ้นท์ นอกจากนี้ ในการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ บริษัทต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของธุรกิจ (Due diligence) เพื่อศึกษาข้อกำหนดในด้านการลงทุนและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รายงานยังระบุว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (Internet of Things: IoT) หุ่นยนต์ (Robotics) รวมทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D printing) ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนและค่าใช้จ่าย จะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการทั่วโลกในอนาคต 4. อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน พัฒนาการของตลาดการเงินของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างปรับกลยุทธ์และกรอบความคิดในการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้กันอย่างคึกคัก นาย ชาญชัย กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการชำระเงินทางเลือกในไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินสด การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่ข้อมูลของไอเอ็มเอฟระบุว่า อัตราการออมของไทยคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง หรือ 30% ของจีดีพีในปี 2564 (เทียบ 33% ในปี 2558) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ไม่มีบัญชีฝากธนาคาร หรืออยู่นอกระบบ เพราะมีข้อจำกัดในด้านเอกสาร หรือขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้ หรือเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงินต่างๆ ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในการเข้ามายกระดับบริการทางการเงินให้กับอุตสาหกรรม นาย ชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า "แม้บริษัทต่างๆ จะสามารถหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จ ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สลับซับซ้อน โดยพัฒนาความสามารถหลักในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นวัตกรรม ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และกำหนดกลยุทธ์ในการเข้าถึงตลาดเป้าหมาย เพื่อความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืนของธุรกิจ ด้านรัฐบาลเองก็ต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมแหล่งเงินทุน รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ