กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ซีพีเอฟ
การสร้างโอกาสในการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน ถือเป็นการปูพื้นฐานที่ยั่งยืนสู่เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ขณะเดียวกันการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ถูกหลักโภชนาการ และสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกทักษะอาชีพ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ประเด็นเหล่านี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เล็งเห็นความสำคัญผ่านการดำเนินโครงการ 'ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต' มาตั้งแต่ปี 2558
จนถึงวันนี้ ความสำเร็จจากโครงการ 'ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ' เห็นผลชัดเจนแล้ว หนึ่งในตัวอย่าง คือ 'ด.ช.ไชยวัฒน์ ก้อนสูงเนิน' หรือน้องมายด์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ใช้โอกาสจากการฝึกปฏิบัติและเรียนรู้นอกห้องเรียน ในกิจกรรมของโครงการ "อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" นำมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้พิเศษสู่การพึ่งพาตนเอง
น้องมายด์ เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดภูฐาน กิจกรรมของโครงการอิ่ม สุข ปลูกอนาคต ตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวิทยากรจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา มาให้ความรู้เกี่ยวกับการผสมเห็ด ทำก้อนเชื้อเห็ด การนึ่งก้อนเชื้อเห็ด เป็นต้น ด้วยพื้นฐานส่วนตัวที่ชอบเรื่องการเพาะเห็ดอยู่แล้ว น้องมายด์จึงเริ่มศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดอย่างจริงจัง ขณะอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) ได้ซื้อก้อนเชื้อเห็ดจากโรงเรียนไปจำนวน 100 ก้อน ก้อนละ 6 บาท รวมเป็น 600 บาท โดยใช้เงินทุนที่ป้าซึ่งมีอาชีพค้าขาย ควักประเป๋าเป็นทุนประเดิมในการซื้อก้อนเชื้อเห็ดให้ เพราะต้องการส่งเสริมให้น้องมายด์มีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงตัวเอง จากนั้นน้องมายด์ก็ลงมือสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดของตัวเอง จากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ที่บ้าน
รายได้ที่ 'น้องมายด์' ได้รับจากการจำหน่ายผลผลิตจากเห็ดนางฟ้าภูฐาน แม้จะไม่ได้มากมายนัก แต่ก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ สำหรับนนร. ชั้น ม. 1 ในช่วงนั้นแต่ละวัน น้องมายด์เก็บเห็ดได้เฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 60 บาท จำหน่ายให้แก่ชาวบ้านที่มาสั่งไว้ จนถึงวันนี้ โรงเพาะเห็ดมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้น 'น้องมายด์'เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า พี่ๆซีพีเอฟปรับปรุงโรงเรือนเพาะเห็ดให้แข็งแรงกว่าเดิม จึงได้ตัดสินใจซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาลงใหม่เพิ่มเป็น 300 ก้อน ทำให้ผลผลิตจากเห็ดนางฟ้าภูฐานที่เก็บได้ทุกวันนี้ วันละ 5 กิโลกรัม ประกอบกับราคาเห็ดสูงขึ้น จึงได้ปรับราคาขายเป็น 70 บาท/ก.ก. แต่ถึงอย่างนั้น ราคาเห็ดที่น้องมายด์ขายก็ยังต่ำกว่าราคาตามท้องตลาดที่ขายอยู่ที่ 80-120 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากเพาะเห็ดแล้ว ยังได้ปลูกผักสวนครัวไว้ที่บ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารบริโภคและส่วนที่เหลือที่สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ได้อีกช่องทางหนึ่ง ผักที่ปลูกไว้ เช่น ผักบุ้ง ตะไคร้ ผักชี กล้วยน้ำว้า ชมพู่ มะละกอ โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าที่น้องมายด์ปลูกไว้ 15 ต้น มักจะเหลือผลผลิตนำไปขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนเดียวกัน ขายยกเครือ เครือละ 120 บาท โดยเครือหนึ่งตกประมาณ 15 หวี เฉลี่ยแล้วก็ยังราคาต่ำกว่าท้องตลาดซึ่งขายกันที่ 30 บาทต่อหวี
รายได้พิเศษอีกทางหนึ่งของน้องมายด์ มาจากการรับจ้างเป็นแคดดี้ ในวันเสาร์บางสัปดาห์ที่ไม่ได้ติดช่วยกิจกรรมของโรงเรียน เขาเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า ถ้าต้องเป็นคิวแรกในการออกรอบ ก็จะต้องไปถึงสนามกอล์ฟตั้งแต่ ตี 5 บางวันใช้เวลาตั้งแต่ 07.00 น. ไปจนถึงบ่าย และในแต่ละครั้งที่ออกรอบจะมีรายได้ประมาณ 500-600 บาท เหลือเวลาในวันอาทิตย์ น้องมายด์ก็จะจัดการกับภารกิจส่วนตัว ซักเสื้อผ้า เพื่อเตรียมตัวมาโรงเรียนในวันจันทร์
หลังจบการศึกษา น้องมายด์ ตั้งใจแล้วว่าเขาจะยังยึดอาชีพเพาะเห็ดเพื่อเป็นรายได้พิเศษ ไม่เพียงเท่านั้น อีกไม่เกิน 1 เดือนจากนี้ไป น้องมายด์เตรียมแผนซื้อพันธุ์เป็ดจากเพื่อนบ้าน เพื่อต่อยอดจากการเพาะเห็ด ปลูกผัก ขยายสู่การเลี้ยงเป็ดซึ่งขณะนี้เขาขุดสระรอไว้เรียบร้อยแล้ว เขาบอกด้วยว่า จะซื้อพ่อพันธุ์เพียง 1 ตัว ตัวเมีย 5 ตัว จากนั้นรอให้มีการขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าซื้อเป็ดตัวผู้มาไว้เยอะเกินไป เป็ดก็จะตีกัน มายด์มีความรู้เรื่องการเลี้ยงเป็ดอยู่บ้าง เพราะก่อนที่จะไปรับจ้างเป็นแคดดี้ มายด์ใช้เวลาที่มีอยู่ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้จากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนวัว ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านน้องมายด์ไปเพียง 600 เมตร
'นัฐพงศ์ เถาะสูงเนิน' ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง กล่าวว่า น้องมายด์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของนักเรียนที่นำความรู้จากการเพาะเห็ดที่โรงเรียนไปใช้ที่บ้าน โดยสามารถนำก้อนเชื้อเห็ดไปเพาะเพื่อเป็นอาหารบริโภคในครัวเรือน และผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ก็สามารถนำมาจำหน่ายในตลาดนัดที่อยู่ในชุมชน ถือว่าสิ่งที่โรงเรียนได้รับจากโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ในวันนี้ ทำให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หลังจากที่เราประสบความสำเร็จจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน การเพาะเห็ด สิ่งที่เราจะทำต่อไป เรามีแนวคิดที่ว่าจะปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อให้นักเรียนได้บริโภคผักปลอดสารพิษ ผักไฮโดรโปนิคส์ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวัน ก็สามารถใช้วัตถุดิบจากในโรงเรียน สิ่งที่ตามมาคือ นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รู้จักรับผิดชอบ สามารถฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนได้ เราได้คิดไปล่วงหน้าว่า การทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่เพื่อไปสู่ความยั่งยืนต่อไป จำเป็นต้องมีการพัฒนาและสานต่อ ซึ่งปีนี้จะมีนักเรียนชั้น ม.3 ที่จบการศึกษาไป ดังนั้นจึงได้เตรียมสร้างเด็กรุ่นใหม่ๆ ม.1 และ ม.2 ขึ้นมาแทน ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ๆ
'น้องมายด์' เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของโครงการ 'ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต' ซึ่งจะเติบโตเป็นเยาวชนคุณภาพที่ยั่งยืนของสังคมไทยต่อไป./