กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--IOD
สมาคมธนาคารไทยและสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะเลขานุการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) ได้จัดทำ "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ" (MOU) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทธุรกิจภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมโครงการ CAC และดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองจาก CAC ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายวงเครือข่ายธุรกิจที่มีเจตจำนงแน่วแน่ในการต่อต้านทุจริต และสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจสะอาดในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ภายใต้ MOU ฉบับนี้ สมาคมธนาคารไทยจะส่งเสริมให้สมาชิกของสมาคมซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์ของไทยจำนวน 15 ธนาคาร เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในโครงการต่อต้านทุจริตนี้ และพิจารณานำประเด็นการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจนของลูกค้ามาประกอบในการพิจารณาสินเชื่อ
"การให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการของสมาคมธนาคารไทย จะมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่ง จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในการให้เงินกู้แก่ลูกค้าของธนาคารไปได้ระดับหนึ่งด้วย" ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC และ กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าว
สมาคมธนาคารไทย เป็นหนึ่งในแปดองค์กรที่เข้าร่วมก่อตั้งโครงการต่อต้านทุจริต โดยมีองค์กรอื่นๆ ได้แก่ หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย จะทำหน้าที่เป็นเลขานุการและมีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการต่อต้านการทุจริต CAC
"สมาคมธนาคารไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการ CAC และประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยทางสมาคมฯหวังว่าการดำเนินการของธนาคารไทยในเรื่องนี้ จะมีส่วนเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจไทยทำธุรกิจอย่างโปร่งใสมากยิ่งขึ้น" นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าว
สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
Background
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 817 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านการรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด รวม 227 บริษัท
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ