กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)เปิดเผยว่าตามที่ "กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการ พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552" และ "ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552"กำหนดให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมดำเนินการจัดส่งผลการตรวจสอบและรับรองการ จัดการพลังงาน ให้ พพ. ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งรายงานดังกล่าว จะต้องดำเนินการโดย ผู้ตรวจสอบและรับรองที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการครั้งแรก ปี 2559 ซึ่งกำหนดให้โรงงานและอาคารควบคุม ที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 3,000 KW หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,530 KVA ขึ้นไป หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 60 ล้านเมกะจูลต่อปี มีผู้เข้าร่วมขอรับการสนับสนุนและผ่านเกณฑ์ จำนวน 746 แห่ง คิดเป็นวงเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 29,840,000 บาท
และในปี 2560 นี้ มีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 2,000 KW หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 2,350 KVA ขึ้นไป หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 40 ล้านเมกะจูลต่อปี รวมทั้งโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในปี 2559 สามารถขอรับการสนับสนุนฯได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 3,600 แห่ง ทั่วประเทศ โดยผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนสามารถขอรับการสนับสนุนได้ครั้งเดียว และผ่านหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังต่อไปนี้
• ต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ภายใน 31 มีนาคม 2560
• ต้องมีผลการอนุรักษ์พลังงาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ของปริมาณการใช้พลังงานรวม หรือมีผลประหยัดจากการดำเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงานไม่น้อยกว่า 300,000 เมกะจูล
• ต้องยื่นใบสมัครขอรับการสนับสนุนภายใน 31 พฤษภาคม 2560
ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินการจัดการพลังงานดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด พพ. จึงได้จัดทำ"โครงการส่งเสริมการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกการตรวจสอบ และรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมาย" โดยจัดสรรเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าจำนวน 40,000 บาทสำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และ พพ.ได้จัดให้มีการสัมมนาโครงการฯขึ้น ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาคที่มีอาคารและโรงงานตั้งอยู่หนาแน่น รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, อยุธยา, สมุทรปราการ, และเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขอรับการสนับสนุนในโครงการดังกล่าว
รองอธิบดี พพ. กล่าวต่อไปว่าการดำเนินการจัดการพลังงานปี พ.ศ. 2561 ซึ่งโรงงานและอาคารควบคุมต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561 นั้น ซึ่งครอบคลุมการให้การสนับสนุนทั้งหมดแก่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม นับเป็นกลไกใหม่ที่มีความท้าทาย ภารกิจสำคัญตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 2558 - 2579 (EEP 2015) ที่ได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานต่อผลผลิตหรือที่เรียกว่าค่า Energy Intensity ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและนำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป