กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ปตท.
สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่การดูแลแก้ไขปัญหาชุมชนรอบพื้นที่โครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการสร้างอาชีพ
นายยุทธนา วิญญูพงศ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ได้ก้าวสู่ปีที่ 36 แล้วในการส่งมอบพลังงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ นับจากการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 1 เพื่อรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยขึ้นฝั่งที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เมื่อปี พ.ศ.2524 และขยายโครงข่ายฯ ต่อเนื่องจนถึงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติตะวันตกจากสหภาพเมียนมา มายัง บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2541 เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ณ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี อันนับเป็นจุดตั้งต้นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทางท่อฯ จากประเทศเพื่อนบ้าน นับเกือบ 20 ปีแล้วในวันนี้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ นำมาสู่การพัฒนาและขยายโครงข่ายเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซฯ รวมความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตรในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในการบริหารโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อขึ้นในส่วนภูมิภาครวม 11 แห่ง โดย ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อเขต 8 จ.กาญจนบุรี มีขอบเขตความรับผิดชอบดูแลระบบท่อส่งก๊าซฯ ตะวันตก ตั้งแต่จุดส่งมอบก๊าซฯ ชายแดนไทย-สหภาพเมียนมา ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ถึงสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกที่ 9 อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ซึ่งนอกจากภารกิจหลักในการดูแลบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซฯ แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยเฉพาะการนำความรู้วิศวกรรมของพนักงานมาต่อยอดช่วยแก้ไขปัญหาการนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคของชุมชน ภายใต้ "โครงการพลังธรรมชาติ พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน" ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จกว่า 4 โครงการแล้ว ได้แก่ หมู่บ้านขนุนคลี่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี (ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2) หมู่บ้านภูเตย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และ หมู่บ้านต้นผึ้ง ต.สามหมื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก
หลักการสำคัญของโครงการพลังธรรมชาติ พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน คือ การพัฒนา "เครื่องตะบันน้ำ" หรือ "ไฮดรอลิคแรมปั๊ม" (Hydraulic Ram Pump) อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งน้ำจากที่ต่ำไปที่สูง โดยอาศัย "พลังงานน้ำ" ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาใช้ทดแทนปั๊มน้ำไฟฟ้าหรือน้ำมันที่มีต้นทุนสูง ทำให้ชุมชนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่สูงจากแหล่งน้ำ ได้มีระบบส่งน้ำและประปาหมู่บ้านจากพลังงานสะอาด เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในชุมชน รวมถึงการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ที่ต้องการน้ำสำหรับการเกษตรหรือพื้นที่ป่าไม้ในอนาคต
ปัจจุบัน โครงการฯ ได้นำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ 4 รูปแบบ ได้แก่
1. การใช้เครื่องตะบันน้ำกับลำห้วยเดิมที่ไม่มีฝายหรืออ่างเก็บน้ำ
2. การใช้เครื่องตะบันน้ำกับฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน
3. การใช้เครื่องตะบันน้ำกับแหล่งน้ำซับขนาดเล็ก
4. การใช้เครื่องตะบันน้ำกับแม่น้ำสายหลัก
"บทบาทหน้าที่ของ ปตท. มิได้มีเพียงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเท่านั้น แต่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ ชุมชน และสังคม ด้วยความรู้และกำลังที่มี คืออีกหน้าที่ที่พนักงาน ปตท. ทุกคนตระหนักเสมอ เป็นหนึ่งในค่านิยมขององค์กร" นายยุทธนา กล่าวเสริมในตอนท้าย