กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ โดยในสัปดาห์สิ้นสุด 24 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10) อยู่ที่ 652 แท่น (และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 250 แท่น)
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 533.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เพิ่มขึ้นสูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล)
· นาย Mustafa Sanalla ประธานบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (Libya National Oil Corporation – NOC) เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน ฟื้นตัวหลังเกิดการสู้รบเพื่อแย่งชิงท่าส่งออกน้ำมันหลักในช่วงเดือน มี.ค. 60 และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกราว 55,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิต Abu Attifel และ Rimal กลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุง ทั้งนี้ NOC มีแผนเพิ่มการผลิตขึ้นสู่ระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 60 และสู่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน ส.ค. 60
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 21 มี.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 33,272 สัญญา อยู่ที่ 281,804 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
· Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียในเดือน ม.ค. 60 ลดลง0.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Shell, Chevron และ Exxon Mobil เข้าประมูลแหล่งผลิตน้ำมันดิบทะเลลึกบริเวณอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ โดยมูลค่าการประมูลสูงสุด อยู่ที่ 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 76% จากมูลค่าการประมูลสูงสุดในปีก่อนหน้า การประมูลครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของนาย Donald Trump ซึ่งได้สัญญาว่าจะปรับปรุงกฎข้อบังคับต่างๆ เพื่อสนับสนุนการสำรวจและผลิตด้านพลังงาน และบ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้มีมุมมองว่าในอนาคตราคาน้ำมันดิบจะปรับสูงขึ้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงจากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดจาก จำนวนแท่นผลิตน้ำมันและปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ CFTC รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 และอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ 6 ธ.ค. 59 อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ของกลุ่ม OPEC และประเทศ Non OPEC ประชุมเพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อกำหนดในการลดปริมาณการผลิต เมื่อวันที่ 25 -26 มี.ค. 60 รายงานผลการปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Rate) ในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 94 % ให้จับตามองกลุ่มOPEC และประเทศ Non OPEC ที่มีแนวโน้มจะพิจารณาการขยายเวลาลดปริมาณการผลิตอีกครั้งในเดือน เม.ย. 60 โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak แถลงสนับสนุนการขยายเวลาลดปริมาณการผลิต และติดตามการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณไม่ราบรื่น เพราะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ อาจไม่สนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดี หลังร่างกฎหมายปฏิรูปการประกันสุขภาพถูกถอนออกจากสภา เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.0-54.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47.0-52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 48.0-53.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นจากข่าวบริษัท Kuwait Petroleum Corp. (KPC) มีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินปริมาณ 850,000 บาร์เรลต่อเดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 เนื่องจากบริษัทจะปิดโรงกลั่น Shuaiba (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นการถาวรในเดือน เม.ย. 60 และเดินหน้าควบรวมและเพิ่มกำลังการกลั่นของโรงกลั่น Al Ahmadi (กำลังการกลั่น 470,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Al Abdullah (กำลังการกลั่น 270,000 บาร์เรลต่อวัน) รวมเป็น 800,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงกลั่นใหม่ Al Zour (กำลังการกลั่น 615,000 บาร์เรลต่อวัน) ทั้งนี้โครงการทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2562 ประกอบกับIES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.85 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.42 ล้านบาร์เรล ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินแบบเทอม สำหรับส่งมอบเดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 17% อยู่ที่ระดับ 8.4 ล้านบาร์เรล และอาจไม่มีการนำเข้าเพิ่มเติมจากตลาดจร (Spot) ขณะที่ Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ก.พ. 60อยู่ที่ระดับ 340,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 16.3 %) ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.26 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.92 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ตลาดน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงเพราะผู้ค้าในตลาดคาดว่าอียิปต์อาจยกเลิกสัญญานำเข้าบางส่วนที่ซื้อในตลาดจร (Spot) สำหรับส่งมอบไตรมาสที่ 2/60 หลัง Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียเตรียมส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปให้อียิปต์อีกครั้งในเดือน เม.ย. 60 หลังเพิกเฉยต่อสัญญาส่งออกปริมาณ 5.25 ล้านบาร์เรล ต่อเดือนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 59 จากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 60เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.37 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.25 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันดีเซลของเวียดนามมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นหลังกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 609ดอง/ลิตร (หรือประมาณ 0.026 เหรียญสหรัฐฯ/ลิตร) เป็น 13,838 ดอง/ลิตร(หรือประมาณ 0.61 เหรียญสหรัฐ/ลิตร) มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 21มี.ค. 60 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.08ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.79 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล