นักฟิสิกส์หนุ่มไฟแรง….. “รัตติกร ยิ้มนิรัญ” ผู้มุ่งมั่นสร้างงานวิจัยที่เอื้อประโยชน์แก่ท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Friday August 17, 2001 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สสวท.
“ผมอยากทำงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น และช่วยพัฒนาท้องถิ่นให้ดีขึ้น” เป็นคำพูดของ รัตติกร ยิ้มนิรัญ ด๊อกเตอร์หนุ่มวัย 32 ปี ชาวจังหวัดชัยภูมิ ที่เพิ่งบินลัดฟ้ากลับมาจากอเมริกาหลังจากเรียนจบปริญญาเอกหมาด ๆ เมื่อต้นเดือน สิงหาคม 2544 ที่ผ่านมา
รัตติกร ยิ้มนิรัญ จบชั้น ม. ปลายจากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จบปริญญาโทด้านเดียวกันจากจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาเอกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science and Engineering) วิชาเอก Ceramic Sciences จากมหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และเพิ่งเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จุดแรกเริ่มของความสนใจวิทยาศาสตร์เกิดจากการอ่านนิตยสาร “มิติที่ 4” เมื่อครั้งที่เรียนชั้น ม. ต้นที่จังหวัดชัยภูมิ ทำให้เกิดความใฝ่ฝันอยากเป็นนักสำรวจอวกาศ และคิดว่าถ้าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเป็นนักฟิสิกส์ พอได้รับทุน พสวท. จึงตั้งเป้าจะเรียนฟิสิกส์มาโดยตลอด ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาตั้งแต่ชั้น ม. ปลายจนถึงปริญญาเอก รัตติกรมีผลการเรียนที่โดดเด่นและได้รับรางวัลกว่าสิบรางวัลทั้งจาก องค์กรในประเทศไทยและต่างประเทศ
เมื่อครั้งที่เรียนปริญญาเอกที่อเมริกา รัตติกรมีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการถึง 15 ฉบับ และมีโอกาสไปแสดงผลงานวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งที่ภูมิใจที่สุด คือ งานประชุมประจำปีของสมาคมเซรามิคอเมริกา (American Ceramic Socirty Annual Meeting) ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสมาคมดังกล่าวในปี ค.ศ. 1998 ซึ่งมีผู้คนหลายพันคนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม
ในงานนี้ผลงานของเขาได้รับรางวัล “Best Graduate Student Poster Award ” คัดเลือกจากโปสเตอร์ที่แสดงในงานประมาณ 300 ผลงานจากทั่วโลก ให้คะแนนทั้งด้านเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และการตอบคำถามของเจ้าของผลงาน
รัตติกรเล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า “รางวัล Best Graduate Student Poster Award ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดอย่างหนึ่งของนักเรียนที่อเมริกา สมาคมประกาศรางวัลในงานเลี้ยงตอนกลางคืน โดยประกาศให้ผู้ได้รับรางวัลยืนขึ้น แล้วคนสี่พันที่คนร่วมงานเลี้ยงก็ปรบมือให้ ซึ่งล้วนแต่เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงด้านเซรามิคจากทั่วโลกทั้งนั้น ก็รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก”
แรงบันดาลใจจากอาจารย์ที่ปรึกษา โปรเฟสเซอร์โรเบิร์ต นิวแมน ก็มีส่วนทำให้รัตติกรเกิดความคิดที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เขากล่าวว่า “ประทับใจในตัวอาจารย์ตรงที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และ
เป็นวิศวกรที่มากด้วยความสามารถ เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำวิจัย เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ดีและเป็นมนุษย์ที่ดี และคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรโลกถึงจะดีขึ้น อาจารย์กล่าวอยู่เสมอว่า ถ้าเราต้องการจะให้ คนอื่นเป็นอย่างไรหรือทำอะไร เราควรจะทำตัวอย่างนั้นให้เขาเห็นก่อน” ซึ่งรัตติกรนำมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและเป็นแนวทางในการทำงาน และมีความมุ่งมั่นว่าเมื่อเป็นอาจารย์ที่ มช. แล้ว เขาต้องการจะทำงานวิจัยที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้ดีขึ้น
“เมืองไทยไม่ได้ต้องการงานวิจัยที่ไฮเทคมาก แต่ต้องการงานวิจัยที่ตอบสนองต่อปัญหาของท้องถิ่นและปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง เป็นงานวิจัยที่อยู่ในทิศทางเดียวกันและไปสู่เป้าหมาย เดียวกันในภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าอยากทำอะไรก็ทำแล้วนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ต้องคิดว่าทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะอยู่แถวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ แต่ควรจะคิดว่าทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ผลิตอะไรที่เป็นของตัวเอง ซึ่งต้องเริ่มจากงานวิจัยที่ดีในระดับหนึ่งแล้วค่อยแตกยอดออกไป”
ประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยสอนในระยะเวลา 4-5 ปีที่เรียนปริญญาเอก ทำให้รัตติกรมีโอกาสได้ฝึกทักษะและได้เทคนิคการสอนมาไม่ใช่น้อย สิ่งหนึ่งที่รัตติกรตั้งใจจะทำเมื่อสอนที่ มช. คือ ฝึกให้ นักศึกษาได้แสดงผลงาน มีความกล้าในการนำเสนอ กล้าซักถามและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง จะช่วยให้นักศึกษาเกิดความรู้และเข้าใจได้ดีกว่า
ซึ่งน่ายินดีว่าเมืองไทยจะมีนักฟิสิกส์หนุ่มไฟแรงมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของชาติ และคิดค้นงานวิจัยที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นได้อีกแรง เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของสถาบัน ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีอุดมการณ์แก่สังคมไทย--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ