CAT จัดงาน CAT NIGHT PARTY and APG CELEBRATION จับมือกลุ่มผู้ร่วมลงทุน ฉลองเปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำ APG

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday March 29, 2017 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--studio mango บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ยกทัพผู้บริหารกลุ่มภาคีสมาชิกผู้ร่วมลงทุนจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ APG หรือ Asia Pacific Gateway ร่วมฉลองเปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ APG โดยมีกลุ่มผู้ร่วมลงทุน ประกอบด้วย CAT, China Mobile, China Telecom, China Unicom, Chunghwa Telecom, Edge, KT Corporation, LG U plus, NTT Com, StarHub, Global Transit, Viettel และ VNPT ด้วยระบบการจัดสร้างตามมาตรฐานระดับสูง พร้อมแบนด์วิดท์รองรับคอนเทนต์ระดับโลก ตอบสนองการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูลในภูมิภาคเอเชียอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกร่วมงานฉลองอย่างคับคั่ง พันเอก ผศ.ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ผลักดันนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างชัดเจน ขณะที่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ อันจะทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าของไทยไปสู่ระดับภูมิภาค ปัจจุบันปริมาณ Internet Bandwidth ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศของผู้ใช้บริการ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยแบนด์วิดท์สำหรับการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตใน ปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 4 เทราบิตต่อวินาที และจะเพิ่มอีกกว่าเท่าตัว หรือ ดับเบิลแบนด์วิดท์ในปีหน้า ปัจจัยหลักๆ มาจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ของทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งมีการพัฒนาด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี ในยุคของ Disruptive Technology รวมไปถึงการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่และอยู่ในช่วงของการช่วงชิงตลาดทำให้มีความต้องการใช้งาน Internet Bandwidth เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายของ CAT เราเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพระบบสื่อสัญญาณที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพสูงด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค สำหรับการใช้งานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยวันนี้เราได้มาร่วมฉลองและสร้างพลังในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียร่วมกับภาคีสมาชิกผู้จัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ APG รองรับการให้บริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ AAG (Asia-America-Gateway) ซึ่งเป็นการให้บริการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียและเชื่อมต่อไปยังทวีปอเมริกา และนั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียอย่างไม่หยุดยั้ง" ระบบเคเบิลใต้น้ำ APG (Asia Pacific Gateway) มีความยาวประมาณ 10,900 กิโลเมตร เชื่อมต่อตรงจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยใช้เทคโนโลยีขยายแบนด์วิดท์ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลมากกว่า 54 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) นับเป็นความจุแบนด์วิดท์สูงสุดกว่าทุกระบบที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ระบบ APG จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่หนาแน่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อยอดจากระบบ AAG ที่ CAT ได้จัดสร้างก่อนหน้านี้ โดยภายในปีนี้บริการ CAT Internet Gateway จะเริ่มเปิดให้บริการวงจรเชื่อมโยงความเร็วสูงขนาด 100 Gbps. ต่อพอร์ต เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ในต่างประเทศ ผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศหลากหลายระบบที่ CAT ได้ร่วมลงทุน ได้แก่ APG, AAG และ SEA-ME-WE 4 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 4 ) ซึ่งจะเพิ่มเสถียรภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น การให้บริการดังกล่าวจะทำให้ CAT Internet Gateway เป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่มีการเชื่อมโยงแบบ Nx100 Gbps. ผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศภายในปีนี้ นอกจากการเปิดใช้เคเบิลใต้น้ำ APG แล้ว CAT มีนโยบายที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยริเริ่มโครงการ Digital Innovation Park พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ อาทิ Cloud IoT และ Security ให้ตอบโจทย์เฉพาะและรองรับ New S-Cuve ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งการเงินการธนาคาร การผลิต งานบริการ ฯลฯ และยังเน้นย้ำในด้านความร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่ม content / application ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโมเมนตัมธุรกิจและต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ พร้อมส่งเสริมตลาดกลุ่มธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ