กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--โรงพยาบาลพระรามเก้า
โดย นายแพทย์วิรุฬห์ มาวิจักขณ์
ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต
โรงพยาบาลพระรามเก้า
ไต ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และควบคุมเกลือแร่ ระดับน้ำในร่างกาย ของเสียต่างๆมาจากการเผาผลาญอาหารและจากการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย โรคไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ, นิ่วที่อุดตันไต ฯลฯ เมื่อไตเสื่อม หรือไตวายอย่างเรื้อรัง เลือดจะสกปรก เป็นอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องอาศัยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างช่องท้องตลอดชีวิต แต่วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นวิธีการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวาย กลับคืนมาสู่สภาพเกือบเหมือนคนปรกติ
นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่สถาบันเราได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการแพทย์ไทย โดยที่ได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศความเชี่ยวชาญเป็นเลิศทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนไต ตามมาตรฐานสากลระดับโลกจาก JCI (Joint Commission Internationnal, USA.) โดยได้รับการชมเชยจากแพทย์ชาวต่างชาติผู้มาตรวจมาตรฐานว่าเป็นสถาบันแรกของโลก ที่ได้รับการรับรองความเป็นเลิศทางการเปลี่ยนไต "แพทย์ชาวต่างชาติที่มาตรวจมาตรฐาน JCI กล่าวชมว่า ความสามารถและความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาล ความปลอดภัย ระบบความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบในทีมงานเปลี่ยนไตของสถาบันเปลี่ยนไตโรงพยาบาลพระรามเก้า เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างยอดเยี่ยม (Praram 9 Hospital Kidney Transplant Team is a Phenomenon)"
นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดเปลี่ยนไตต้องมีความพร้อมทางทีมแพทย์ ต้องการแพทย์หลายๆสาขา เช่น แพทย์โรคไต แพทย์ผ่าตัดเส้นเลือดไต แพทย์ผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ทางด้านการติดเชื้อหลังเปลี่ยนไต แพทย์ทางด้านการตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Typing, DNA) จิตแพทย์ เภสัชกรด้านยากดภูมิเปลี่ยนไต แพทย์เอ็กซเรย์ด้านการเปลี่ยนไตโดยเฉพาะ นักโภชนากรด้านการเปลี่ยนไตนักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่ห้องแลปที่สามารถตรวจระดับยาเปลี่ยนไตได้ 24 ชั่วโมง พยาบาลห้องผ่าตัดพยาบาลไอซียูและพยาบาลประจำหอผู้ป่วยโรคไต และพยาบาลผู้ประสานงานการเปลี่ยนไต เป็นเรื่องยากมากที่จะหาทีมงานเหล่านี้มาทำงานพร้อมๆกันเพื่อรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตและดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ 24 ชั่วโมง ทุกๆวันไม่มีวันหยุด โรงพยาบาลพระรามเก้ามีความพร้อมอย่างเต็มที่ในบุคลากรทางด้านการเปลี่ยนไต เป็นต้นว่าเรามีแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนไต 7 ท่านและแพทย์ด้านโรคไต 5 ท่านที่พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง การผ่าตัดเปลี่ยนไตมีได้ 2 ประเภท ประเภทแรกคือการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ได้ไตจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว โดยที่ผู้บริจาคยื่นเจตจำนงว่าบริจาคอวัยวะให้แก่ผู้อื่นขณะมีชีวิตอยู่ กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นความจำนงมาก่อน ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถ ยื่นความประสงค์ให้กับสภากาชาดไทยได้ เป็นที่น่าชื่นชมที่ประเทศไทยเรามีสภากาชาด เป็นองค์กรกลางเพียงแห่งเดียวที่รับเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคอวัยวะ และเป็นศูนย์กลางที่จะจัดสรรอวัยวะต่างๆที่ได้มาด้วยความยุติธรรมที่สุดให้แก่คนไข้ทั่วประเทศไม่ว่าคนไข้จะเป็นคนรวย คนจน คนต่างจังหวัดแดนไกล มีโอกาสได้รับการจัดสรรอวัยวะอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกัน การผ่าตัดเปลี่ยนไตประเภทที่สองคือการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ได้ไตจากญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ ในกรณีนี้กฎหมายของประเทศไทยกำหนดว่าต้องเป็นญาติพี่น้องที่มาจากสายเลือดเดียวกัน คือต้องพิสูจน์ได้ว่ามี HLA หรือ DNA ที่เป็นสายเลือดเดียวกันจริง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีสามีภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วอย่างน้อย 3 ปี ก็สามารถบริจาคไตให้กันได้
นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ยังกล่าวเสริมประเด็นสำคัญอีกว่า ส่วนใหญ่โรคไตในปัจจุบันมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงซึ่งสัมพันธ์กับการที่อ้วน ไขมันสูงและทานอาหารเค็ม ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไตได้ และที่สำคัญคือในระยะแรกที่ไตเริ่มเสื่อมจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว โรคไตส่วนใหญ่จะเกิดอาการก็ต่อเมื่อไตเสื่อมไปแล้ว 80-90% ดังนั้นการเอาใจใส่ระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและการตรวจสุขภาพแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้อย่างดีที่สุด
ท้ายที่สุดนี้ คุณหมอขอให้คนไทยช่วยกันรณรงค์ให้มีการแจ้งเจตจำนงในการบริจาคอวัยวะให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพราะเป็นการทำบุญกุศลที่ได้ประโยชน์ที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนไต จากข้อมูลปี 2559 ทั้งประเทศ พบว่ามีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 70,000 คน แต่มีการผ่าตัดเปลี่ยนไตทั้งประเทศแค่เพียง 636 คน เป็นผู้ป่วยที่ได้ไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาด 423 คน และอีก 213 คน เป็นผู้ป่วยที่ได้ไตจากการบริจาคจากญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนไตถ้าสำเร็จลุล่วงดีจะเป็นการช่วยชีวิตผู้อื่น และได้คุณภาพชีวิตที่ดีเกือบเหมือนคนปรกติทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศชาติ ในการต้องรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งมีทั่วประเทศ 70,000 คน