กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กทม.
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ (3 ม.ค.44) เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ.2544 ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาญัตติของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล ส.ก.เขตธนบุรี เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนนแทนสะพานลอยคนเดินทางข้ามโดยให้เอกชน หรือกรุงเทพมหานครลงทุน
นายสุทธิชัย กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักระเบียบวินัยในการจราจร สะพานลอยคนเดินข้ามถือเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาในการจราจร ป้องกันอุบัติเหตุจากรถยนต์ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดสรรงบประมารเพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในพื้นที่หลายแห่ง ปัจจุบันการก่อสร้างดังกล่าวบางแห่งมีการเคลื่อนย้ายจุดก่อสร้าง 4-5 ครั้ง เพราะประสบปัญหาในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณใกล้เคียงปัญหาการร้องเรียนในเรื่องขนาดของตอม่อ ปัญหาการถูกขัดขวางจากผู้ประกอบการ ร้านค้า เพราะความเชื่อทางโหราศาสตร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานครต้องสูญเสียเวลาและงบประมาณในการก่อสร้าง รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหามวลชนตลอดมา
ด้านนายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล ส.ก. เขตธนบุรี กล่าวว่า สะพานลอยคนเดินข้ามมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบรรเทาปัญหาการจราจรที่ยวดยานพาหนะจะต้องชะลอความเร็วเมื่อมีผู้ข้ามถนน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยและเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ข้ามถนน แต่การดำเนินการที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาการถูกร้องเรียนจากร้านค้าริมฝั่งถนนบริเวณที่เป็นจุดกำหนดให้ก่อสร้างสะพานลอย เนื่องจากสะพานลอยจะบดบังหน้าร้าน เมื่อได้รับการร้องเรียนกรุงเทพมหานครต้องเสียเวลาในการพิจารณาย้ายจุดที่จะก่อสร้าง จนบางครั้งต้องไปก่อสร้างในจุดที่ห่างไกลชุมนุมชน เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ไม่ค่อยมีผู้ไปใช้เพราะไกลเกินไป
จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนนแทนสะพานลอยคนเดินข้ามโดยให้เอกชนเข้ามาลงทุน และให้สิทธิเอกชนจัดหาผลประโยชน์จากพื้นที่ 2 ฝั่งทางลอดในอุโมงค์ได้ในระยะเวลาที่กรุงเทพมหานครกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ สามารถก่อสร้างได้ในจุดที่ประชาชนต้องการ ตัดปัญหาการถูกร้องเรียน ไม่เป็นสถานที่ลับตาคนอันอาจก่อให้เกิดอาชญากรรม อีกทั้งยังสามารถทำทางลาดสำหรับผู้พิการที่ใช้ล้อเลื่อนได้อีกด้วย รวมถึงยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวในการพาณิชย์และเพิ่มรายได้กับกรุงเทพมหานครต่อไปด้วย
นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนนแทนสะพานลอยคนเดินข้ามว่า ในหลักการสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติคงต้องดำเนินการเรื่องของรายละเอียด เช่น หน่วยงานสาธารณูปโภค เนื่องจากชั้นใต้ดินมีการวางสายเคเบิ้ลจำนวนมาก การก่อสร้างในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และจะต้องดูบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจะได้นำการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างไป
สำหรับญัตติดังกล่าวที่ประชุมมีมติเห็นชอบและจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาศึกษาในรายละเอียดและดำเนินการต่อไป--จบ--
-นศ-