กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ พร้อมประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องที่พักและการหางานใหม่ ส่วนกรณีคนงานหญิง จ. ระยอง ที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์หากนายจ้างปฎิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการตามกฎหมาย
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เข้าพบเพื่อขอปรึกษากรณีบริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายชดเชย และกรณีลูกจ้างหญิงจังหวัดระยองถูกเลิกจ้างในขณะตั้งครรภ์
วันที่ 27 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กสร.ว่า กรณีลูกจ้างบริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2559 นายจ้างได้หยุดกิจการและประกาศเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 และขอให้ลูกจ้างย้ายออกจากที่พัก ซึ่งลูกจ้างจำนวน 104 คน ได้ยื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อออกคำสั่ง อย่างไรก็ตาม กสร.ได้ประสานกับทางกรมบังคับคดีในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยได้ประสานกับทางธนาคารซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิในหอพักลูกจ้างอาศัยอยู่ให้ผ่อนพันให้ลูกจ้างพักอาศัยต่อไป และประสานให้ลูกจ้างได้ใช้น้ำและมีเครื่องปั่นไฟมาให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันมีลูกจ้างอาศัยอยู่ที่หอพัก จำนวน 32 คน และในวันที่ 3 เมษายนนี้ จะได้นัดหารือกับทางธนาคารอีกครั้งโดยฝ่ายลูกจ้างจะร่วมหารือด้วย นอกจากนี้ได้ประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครในการจัดหางานให้กับลูกจ้างที่ประสงค์จะทำงานใหม่
อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีลูกจ้างหญิงจังหวัดระยองที่แจ้งว่าถูกเลิกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์นั้น พนักงานตรวจแรงงานกำลังดำเนินการสอบข้อเท็จจริงหากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ทราบว่าลูกจ้างได้กลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างแล้ว
"การดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบและขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าว