กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· สจล. จัดเสวนา "ดนตรีอภิวัฒน์กับประเทศไทย 4.0" ชี้เทรน "อุตสาหกรรมเพลง" ของไทย เติบโตต่อเนื่อง พร้อมเป็นศูนย์กลาง "อุตสาหกรรมดนตรีแห่งอาเซียน"
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยอุตสาหกรรมดนตรีของไทย คือกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ หลังสร้างเม็ดเงินสะพัดราว 35,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 10% รุกตั้งเป็นสำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering : IMSE)เป็นศูนย์กลางประยุกต์ความรู้ศาสตร์วิศวกรรม ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร/โทรคมนาคม และไอที เข้ากับศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง รวมถึงงานด้านกราฟิกและแอนนิเมชั่น เทียงชั้นหลักสูตรมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น มหาวิทยาลัยไมอามี และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มุ่งหวั่งพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีให้มีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีอาเซียน
ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ยังสร้างเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนทำให้หลายคนมองว่าดนตรีหรือเพลงคือของฟรี โดยข้อมูลการวิจัยของ TCDC ในปี 2557 ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้สร้างเม็ดเงินสะพัดราว 35,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งออกเป็น ธุรกิจค่ายเพลง 20,000 ล้านบาท ธุรกิจวิทยุที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและบันเทิง 6,500 ล้านบาท ธุรกิจเครื่องเสียงและเครื่องดนตรี 5,000 ล้านบาท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแสงและเสียง 2,000 ล้านบาท และธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี 300 ล้านบาท ขณะที่ในภาพรวมมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ชี้ให้เห็นว่าหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักร้อง นักดนตรี บุคลากรในแวดวง รวมถึงสถาบันการศึกษา ร่วมกันพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเป็นระบบ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ พร้อมกับผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลาง อุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านบันเทิงแห่งอาเซียนได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมดนตรี ส่งผลให้การผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องผสานองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน ที่ผ่านมาสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สจล. จึงพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน โดยการนำความรู้ศาสตร์วิศวกรรม ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร/โทรคมนาคม และไอที ประยุกต์รวมกับความเป็นศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง รวมถึงงานด้านกราฟิกและแอนนิเมชั่นเข้าด้วยกัน รูปแบบการสอนในลักษณะนี้ถือว่าทัดเทียมกับหลักสูตร ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในด้านนี้ เช่น มหาวิทยาลัยไมอามี และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้นักศึกษามีความรู้และทักษะที่หลากหลาย เมื่อจบออกไปสามารถประกอบอาชีพได้ทุกสายงาน ทั้งในอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิง รวมไปถึงสายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันทั่วประเทศยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญน้อยมาก ตัวอย่างเช่นSound Engineer ขณะนี้มีเพียงหลัก 10 เท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มอาชีพที่นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สามารถประกอบอาชีพได้หลังจบการศึกษา แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มอาชีพหลัก ดังนี้
1. กลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี โดยเป็นวิศวกรที่ทำงานทางด้าน Sound Engineer, Light and Sound Control ทั้งในภาคสนามและใน studio รวมทั้งการออกแบบงานด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Live Show ทั้งในรูปแบบของคอนเสิร์ตและละครเวที ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้แก่ศิลปินและภาคธุรกิจ
2. กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์/โฆษณา/เกมส์และแอนิเมชั่น ทำงานด้านการสังเคราะห์เสียงสำหรับผลิตเกมส์และแอนิเมชั่น ผลิตโฆษณาและภาพยนตร์ รวมไปถึงเป็นวิศวกรระบบเครือข่ายสำหรับการ Download Digital Contents ต่างๆ และเกมส์ On-line รวมทั้งงานทางด้าน Mobile Applications
3. สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ เป็นวิศวกรสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ออกแบบระบบอะคสูตกิในห้องส่ง ควบคุมเสียงและภาพในการบันทึกเทปหรือออกอากาศสด และระบบการถ่ายทอดสัญญาณ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ มากมาย
4. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี เป็นวิศวกรที่นำเอาหลักการทางด้านวิศวกรรมมาสร้าง Audio/Sound Effectสำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ การสร้าง Mixer, Equalizer, Amplifier รวมทั้งงานด้านการวิเคราะห์เสียงของเครื่องดนตรีไทย สำหรับการสร้างมาตรฐานของเสียงและการผลิตเครื่องดนตรีไทย
5. กลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียง และโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นวิศวกรด้านความปลอดภัยทางเสียง เช่น ออกแบบและสร้างเครื่องช่วยฟัง และอุปกรณ์ช่วยผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมอง เป็นต้น
6. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นวิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ การออกแบบระบบอะคูสติกในห้องโดยสาร เครื่องเสียงติดรถยนต์ ระบบสื่อสารในรถยนต์และระหว่างรถยนต์กับรถยนต์รองรับระบบการขนส่งอัจฉริยะ
7. กลุ่มอุตสาหกรรม Consumer Electronics เป็นวิศวกรที่ทำางานด้านระบบเครื่องเสียงและระบบอะคูสติก ทั้งภายในสำานักงาน ห้องประชุม หอประชุมขนาดใหญ่ โรงละคร โรงภาพยนตร์ โรงแรม สถานบันเทิง รวมทั้งระบบ Home Theater ในบ้าน
ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวเสริมว่า สจล. เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ดังนั้น เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของคนไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ จึงยกระดับสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เริ่มเปิดสอนในปี 2557 ซึ่งถือเป็นครั้งแรงและแห่งเดียวในประเทศไทย ยกระดับโดยจัดตั้งเป็นสำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering : IMSE) เพื่อสนับสนุนพันธกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการนำเทคโนโลยี และความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีให้มีคุณภาพ พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบันเทิงของภูมิภาคอาเซียน และผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีของไทยให้มีบทบาทเด่นชัดในสายตานานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากร ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีค่ามากยิ่งขึ้นด้วย
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากเราไม่เร่งปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีจะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน สมัยเด็กๆ ผมเติบโตขึ้นมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดนตรี และส่วนตัวคิดว่าเป็นไปในทิศทางขาลงของธุรกิจแบบเดิม เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ดนตรีรูปแบบเดิมๆ สูญหายไป จากเทปคาสเซ็ทในสมัยก่อนกลายมาเป็นแผ่นซีดี ในยุคปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลเผยแพร่ในรูปแบบการสตรีมมิ่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ดังนั้น บุคลากรในอนาคตจะมีความรู้เพียงด้านดนตรีหรือเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ IMSE จึงมีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานความรู้ทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน ตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนต์ใหญ่มากอันดับ 1 ของโลกนั้น เบื้องหลังความสำเร็จเกิดขึ้นจากการสนับสนุนให้คนในประเทศ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้มีโอกาสแสดงความสามารถผ่านการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เราจึงพบเห็นผู้ประสบความสำเร็จในด้านนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งหากเราทำได้เช่นนั้นจะสามารถพัฒนาสู่การเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงแห่งอาเซียนได้ไม่ยากนัก" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นายยืนยง โอภากุล หรือ "แอ๊ด คาราบาว" ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันวงการเพลงเปลี่ยนแปลงไปมากจากจุดเริ่มต้นของวงคาราบาว ที่มีรายได้จากการอัดแผ่นเสียงและการขายเทปหรือซีดีเพลง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้รูปแบบการหารายได้ไม่เหมือนเดิม จุดเปลี่ยนในยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายที่คนวงการเพลงต้องไม่หยุดนิ่งในการปรับตัว จึงมองว่าการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลิตเด็กรุ่นใหม่สู่วงการเพลงไทย ซึ่งที่ผ่านมาจากการจัดเวทีประกวดทำให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งมากไม่แพ้เกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดการและสนับสนุนอย่างไรให้เด่นดังเทียบเท่าทั้งสองประเทศ ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าวงการเพลงบ้านเราจะพัฒนาได้ก้าวไกลไม่แพ้ใคร
นายสมพล รุ่งพาณิชย์ หรือ "แหลม" นักร้องนำวง 25 Hours กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา วง 25 Hours เริ่มพูดคุยถึงแนวทางพัฒนาการแสดงสดทั้งเรื่องเสียงและแสงสีให้ดียิ่งขึ้น เพราะรายได้หลักของวงมาจากการเล่นคอนเสิร์ต หรือไลฟ์โชว์ตามงานอีเว้นท์ต่างๆ ซึ่งจากปัญหาที่พบในการแสดงสดนั้น เชื่อว่าการที่ สจล. มีแนวคิดในการตั้งสำนัก เพื่อยกระดับการเรียนการสอนที่ผสมผสานความรู้ ทั้งด้านดนตรีและเทคนิคต่างๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยยกคุณภาพวงการดนตรีไทยได้ทัดเทียมนานาชาติ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเรามีอุปกรณ์ไม่ดีหรือด้อยกว่าต่างชาติ แต่อยู่ที่ความรู้ความสามารถของคนที่ใช้เครื่องมือได้ไม่ดีพอ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการแสดงสดของวงต่างชาติที่เล่นต่อจากวงไทย ภาพรวมที่ออกมาค่อนข้างต่างกันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมไฟและคุณภาพเสียง ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทำให้รู้ว่าเครื่องมือที่ใช้เป็นชุดเดียวกัน จึงคิดว่าการพัฒนาบุคลากรทางดนตรีให้มีความรู้ที่รอบด้าน คือหัวใจสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้เทียบเท่าวงดนตรีต่างชาติได้
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th