กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 25 มีนาคม 2560 พบว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในระยะนี้มีความแปรปรวน พื้นที่ภาคเหนือมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง ทำให้อ่อนแอ เนื่องจากสัตว์ต้องมีการปรับตัวกับสภาพอากาศ จึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์จึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร และขอให้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด ประกอบกับรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health หรือ OIE) เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N6 และ H5N1 ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งหน่วยงานทางสัตวแพทย์ของประเทศเวียดนามได้สั่งให้ทำลายสัตว์และซากสัตว์ พร้อมทั้งรณรงค์ทำวัคซีนและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่พบโรคดังกล่าวแล้ว
ด้าน นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน มีลมกระโชกแรงและเกิดพายุฤดูร้อนในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบให้สัตว์ได้รับความเดือดร้อนทั้งด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และด้านอาหาร กรมปศุสัตว์จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงในฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ ให้ซ่อมแซมคอกและดูแลโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี เพื่อไม่ให้ลมและฝนสาดเข้ามาในโรงเรือนได้ โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่ไม่ยอมนอนในโรงเรือน ควรจับมานอนในโรงเรือนให้ได้ พร้อมจัดเตรียมอาหารและน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งการฉีดวัคซีนและการดูแลสุขภาพต่าง ๆ ด้วย ในภาพรวมเรียกว่าการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสัตว์ปีกค่อนข้างสูง เหตุผลหนึ่งมาจากเป็นโอกาสที่ประเทศอื่น ๆ เกิดปัญหาเรื่องไข้หวัดนก และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ประเทศไทยจึงต้องรักษามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกไว้ เพื่อการส่งออกของสินค้าสัตว์ปีกที่มีคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ ยังอยากให้เกษตรกรเฝ้าระวังในส่วนของโค-กระบือ และสุกรด้วย เพราะจะมีในเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย และคอบวมในกระบือ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งมีการฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งพี่น้องเกษตรกรมีความเข้าใจที่ดีขึ้น และกำลังจะมีการฉีดวัคซีนพร้อมกันอีกเป็นรอบที่ 2 จึงจะเห็นการฉีดพ่นยาฆ่าเชื่อทั้งในส่วนของโค-กระบือ และสัตว์ปีก โดยจะมีการรณรงค์พ่นยาฆ่าเชื้อปีละ 4 ครั้ง หรือ 3 เดือน/ครั้ง ถือเป็นหลักการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้ ยังมีการตั้งด่านตรวจ หรือการรณรงค์ตามภาวะการเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างนกที่อพยพ หรือนกประจำถิ่น เป็นประจำทุกปี ปีละ 3,200 กว่าตัวอย่าง ซึ่งยังไม่ตรวจพบโรคระบาดสำคัญ โดยเฉพาะไข้หวัดนก