กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) MOU กับ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ยางพารา ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาไม้ยางพาราของชาวสวนยางไทยให้ได้มาตรฐานFSC เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางในประเทศ ส่งเสริมมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าในการส่งออก โดยใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ แปรรูปสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือกชีวมวล สร้างมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีการสนับสนุนการทำสวนยางตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการยางพาราประชารัฐ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กยท. ตัวแทนภาครัฐ และตัวแทนภาคเอกชน พร้อมทั้ง การมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ล่าสุด กยท. และบริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนา และสร้างเกณฑ์การจัดสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล หวังเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ด้วยการใช้ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
"บทบาทของ กยท. จะสนับสนุน ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยาง ให้เห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาสวนยางของเกษตรกรตามมาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC(Forest Stewardship Council) หรือ PEFC (Programme for the Endorsement of Forest Certification) เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยใช้ไม้ยางพาราและเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ หากเกษตรกรชาวสวนยางสนใจ กยท. พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมและให้ความรู้อย่างเต็มที่" ดร.ธีธัช กล่าว
ด้าน ดร.วระชาติ ทนังผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการด้านการผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท นอกจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลแล้ว ยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกและรับซื้อไม้โตเร็ว มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสนับสนุนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางเห็นถึงความสำคัญในการจัดการสวนยางให้อยู่ในระดับมาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน FSC เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าว จะเป็นการรับรองคุณภาพและที่มาของไม้ยางส่งออกจากไทย ว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่เกิดจากการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าในการขายไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราไปยังต่างประเทศ
"ปัจจุบันตลาดในต่างประเทศมีความสนใจและมีความต้องการไม้ยางพาราจากไทยค่อนข้างสูง โดยการใช้ไม้ยางพารา และเศษไม้ยางที่เหลือจากการแปรรูปมากถึง 80 % เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิง แต่เราผลิตและจำหน่ายเพียงในประเทศเป็นหลัก และสามารถส่งออกเพียงบางประเทศเท่านั้น เนื่องจากตลาดใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่นมีความต้องการพลังงานทางเลือกมากก็จริง แต่ต้องมีมาตรฐานสากลในการรับรองถึงที่มาของแหล่งวัตถุดิบจึงจะสามารถส่งออกได้ ซึ่งมาตรฐาน FSC จะเป็นตัวยืนยันได้ว่า ไม้จากสวนยางพาราของประเทศไทยที่ใช้ผลิตพลังงานชีวมวล เกิดจากการบริหารจัดการสวนอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานFSC ที่สากลยอมรับ ดังนั้น หากสวนยางในประเทศสามารถดำเนินการจัดการสวนยางตามมาตรฐานดังกล่าวได้จะเป็นการเพิ่มโอกาสและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น โดยทางบริษัทมีความพร้อมในการสนับสนุน ด้านการอบรม และให้ความรู้ถึงผลตอบแทนเมื่อเกษตรกรนำสวนยางเข้าสู่มาตรฐานนี้ และทางบริษัทตั้งเป้าไว้ประมาณ10,000 – 15,000 ไร่ ต่อปี ซึ่งการร่วมมือกับทาง กยท. ในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้แก่พี่น้องชาวสวนยางมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน" ดร.วระชาติ กล่าวเพิ่มเติม