กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
สำนักงบประมาณขยายผล จากมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ในการเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จี้หน่วยงานและมหาดไทย เร่งกระจายงานการถ่ายโอนอำนาจโดยเร็ว เพื่อให้รับกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.กระจายอำนาจที่จะบังคับใช้ในปี 2545
นายอำพล ทิมาสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการ ภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ในส่วนของโครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก
"จากการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ มพช. ได้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการจัดส่ง 3 ทหารเสือคือ บุคลากรด้านบัญชี ด้านโยธา และด้านการวางแผนการจัดการ เข้าไปช่วยท้องถิ่นในเรื่องของการวางแผน ทำให้การวางแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีขึ้น"
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวสนับสนุนอีกว่า จากการติดตามผลของจุฬา พบว่า 70%ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกันคุณภาพในเรื่องของการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในเชิงระบบ ก็เริ่มจะดีขึ้น และที่ดีมากขึ้น คือ การเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมของการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ถือว่านี่เป็นภารกิจหลักที่เป็นตามแนวทางการกระจายอำนาจ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
"ผลจากกรอบของ มพช. เมื่อมีการเสริมภารกิจหลักให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้สามารถที่ดูแลประชาชนของเขาได้ดีขึ้น ทางสำนักงบประมาณได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกระจายอำนาจ เห็นพ้องกับแนวทางในการดำเนินงานในลักษณะนี้ ว่า ควรจะมีการเพิ่มศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ผลปรากฏว่ามีแนวโน้มจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง"
ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะมีการถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการ 245 เรื่อง โดยมีส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจ 50 กรม ใน 11 กระทรวง แบ่งภาระกิจที่ถ่ายโอนออกเป็น 6 ด้าน ให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,751 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 75 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 6,745 แห่ง เทศบาล 1,129 แห่ง เมืองพัทยาและกทม.
ตามแผนการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณที่รัฐดำเนินการอยู่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีสัดส่วนต่อรายได้รัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในปี 2544 ในปี 2545 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 หรือ 176,000 ล้านบาท ของรายได้สุทธิรัฐบาล และในปี 2549 ท้องถิ่นจะมีรายได้ถึง ร้อยละ 35
ดังนั้น สำนักงบประมาณ จึงได้ขยายผลต่อเนื่อง โดยได้จัดส่งหนังสือเวียนถึง 22 หน่วยงาน ที่ต้องถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในปี 2544 นี้ และส่งหนังสือเวียนไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ประสานงาน กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในการโยกย้ายงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ในปี 2545 นี้--จบ--
-อน-