กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--แฟรนคอม เอเชีย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เทลโคเทค จำกัด บริษัทลูกของ EZECOM และกลุ่มบริษัทพันธมิตร อันประกอบด้วยมาเลเชีย เทเลคอม, มาเลเซีย เบอร์ฮัด และซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ของไทย ร่วมฉลองการเปิดให้บริการระบบเคเบิ้ลใต้น้ำมาเลเชีย-กัมพูชา-ไทยแลนด์ (MCT) และสถานีภาคพื้นดินในกัมพูชา โดย หัวเว่ย มารีน ผู้จัดหาโซลูชั่นซับมารีนเน็ตเวิร์คระดับโลก ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบทั้งหมด
พิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพและมั่นคงยิ่งขึ้นระหว่างกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากสมเด็จกลาโหม ซอร์ เค็ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฯพณฯ ตรัม เอียว ตึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและแขกผู้มีเกียรติจากหลายประเทศ
สมเด็จกลาโหม ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีกับบริษัทและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้กล่าวว่า เขารู้สึกกระตือรือร้นที่จะได้สัมผัสกับ "ประสบการณ์การใช้งานที่เร็วกว่าเดิม" และหวังว่าประชาชนชาวกัมพูชาจะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสถียรในราคาที่ประหยัดขึ้นกว่าแต่ก่อนเช่นเดียวกับเขา
มร. พอล บลองช์-ฮอร์แกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EZECOM กล่าวในระหว่างพิธีเปิดว่า "เราทุกคนเฝ้าคอยเวลานี้มานาน โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และในปี 2560 นี้ ระบบทุกอย่างก็สามารถที่จะเชื่อมโยงถึงกันได้หมด เหมือนกับความฝันของเราได้กลายเป็นจริงแล้ว"
"ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนของระบบเคเบิ้ลคือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะมีความมั่นคงมากขึ้น และตอนนี้เราก็สามารถที่จะเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยตรงผ่านสายเคเบิ้ล ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยงที่มั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับกัมพูชา ดังที่สมเด็จกลาโหมเข้าใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่บริบทของความมั่นคงระดับชาติ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ ธนาคาร" เขากล่าวเสริม
สมเด็จกลาโหม ซอร์ เค็ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งกัมพูชา กล่าวว่า "วันนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชาด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ผมรู้สึกภูมิใจในความทุ่มเทของทุกภาคส่วนที่ได้ทำงานอย่างหนักมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ขอขอบคุณระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ MCT ตอนนี้ประเทศกัมพูชาก็จะมีการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ ราคาคุ้มค่า และที่สำคัญที่สุดคือ มั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับทุกๆ คน ความสำเร็จในครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณถึงความมั่นคงและความเชื่อมั่นที่ประเทศกัมพูชาพึงใจในทุกวันนี้อย่างเห็นได้ชัด ผมมั่นใจว่า มันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราให้เติบโตต่อเนื่อง และทำให้สถานะของเราทั้งในอาเซียนและระดับโลกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"
โรไซมี ราห์มัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายขาย เทเลคอมมาเลเซีย กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า "ประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทเลคอมมาเลเซีย มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญระดับภูมิภาคอีกโครงการหนึ่ง และได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท เทลโคเทคของกัมพูชา และซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ของไทยในการเชื่อมโยงภูมิภาคแห่งนี้ ระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ MCT ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นลงแล้วนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเทเลคอมมาเลเซีย ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบค้าส่งของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะยกระดับการติดต่อสื่อสารในอาเซียนให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น"
นายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า "เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ MCT ซึ่งเป็นระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลระบบแรกของไทยที่ลงทุนโดยบริษัทเอกชน ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่และเปี่ยมด้วยศักยภาพสำหรับวงการโทรคมนาคมของไทย เพราะจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการของซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ทั้งการเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนกิจการโทรคมนาคมของไทยและประเทศต่าง ๆ ในเอเซียให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น"
"ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์มหาศาล เพราะระบบนี้จะสามารถรองรับความต้องการบริการจากลูกค้าของเราที่กำลังเพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลด้วย สำหรับภูมิภาคของเรา ผมมองว่า ความต้องการด้านโทรคมนาคมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น MCT จะช่วยขยายศักยภาพการเชื่อมโยงสื่อสารของเอเชียให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป"
มร. ไมค์ คอนสเตเบิ้ล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย มารีน กล่าวว่า "นี่คือช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจที่บริษัทของเราได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการวางสายภาคพื้นดินโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำระบบแรกเข้าสู่กัมพูชา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงสื่อสารความเร็วระดับสูงข้ามประเทศ เราได้ดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีล่าสุดในระบบนี้ และได้ส่งมอบโครงการนี้ตามกำหนดเวลาท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ในฤดูมรสุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการโครงการของหัวเว่ย มารีน เน็ตเวิร์ค ผมขอขอบคุณพันธมิตรของเรา บริษัท เทลโคเทค, เทเลคอมมาเลเซีย และซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่นส์ และขอชื่นชมวิสัยทัศน์ของทุกฝ่ายในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญสำหรับภูมิภาคนี้"
โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ MCT มีความยาว 1,300 กิโลเมตร และใช้เทคโนโลยี 100 Gbps อันทันสมัย ซึ่งจะมีศักยภาพรองรับการใช้งานได้อย่างน้อย 30 Tbps โครงการนี้จะเชื่อมต่อไปยังระบบเคเบิ้ลใต้น้ำอื่นๆ อาทิ เทลโคเทค ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติกัมพูชาเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นสมาชิกของเกตเวย์เอเชีย-อเมริกา และโครงการสื่อสารใต้น้ำระยะทาง 20,000 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐอเมริกา
ระบบนี้ยังใช้ประโยชน์ต่อยอดจากสถานีภาคพื้นดินต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ "สถานีภาคพื้นดินมิตเพียบ" ที่สีหนุห์วิลล์ ส่วนมาเลเซีย ตั้งอยู่ที่กวนตัน (เชราติ้ง) และที่ระยองในประเทศไทย นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า ระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล MCT จะเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในกัมพูชาและดึงดูดเงินลงทุนมายังกัมพูชาได้มากยิ่งขึ้นด้วย