กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--SYN COMPANY
กระทรวงพลังงาน ยกโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำชุมชนคีรีวง เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน สอดรับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลและสอดคล้องแผน AEDP 2015 ของกระทรวงพลังงาน ชี้ เป็นการส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
นายสุรเชษฐ์ หรดี พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงพลังงาน เปิดเผย โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำชุมชนคีรีวง ในพื้นที่ ต.กาโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการประชารัฐ จาก 26 โครงการทั่วประเทศ ที่ดำเนินงานโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน โดยมีศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ETE) เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นต้นแบบความสำเร็จความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนอย่างชัดเจน ทั้งด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และความรู้ต่างๆ ที่ผสานกันอย่างลงตัวเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง
พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำชุมชนคีรีวง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีมูลค่าโครงการรวม 3,842,000 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบลงทุนจำนวน 2,148,960 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ส่วนชุมชนร่วมลงทุนจำนวน 1,693,040 บาท คิดเป็นร้อยละ 40 มีจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วม รวมทั้งหมด 83 ครัวเรือน ซึ่งมีติดตั้งกังหันน้ำขนาดต่างๆ ดังนี้ กำลังการผลิต 200 วัตต์ จำนวน 10 ชุด กำลังการผลิต 300 วัตต์ จำนวน 30 ชุด กำลังการผลิต 1,000 วัตต์ จำนวน 40 ชุด และกำลังการผลิต 3,000 วัตต์ จำนวน 3 ชุด รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 60 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำดังกล่าวเกิดผลประโยชน์ในด้านการประหยัดไฟฟ้าเทียบเท่าอยู่ที่ 150,000 kWh /ปี และคิดเป็นผลประหยัดพลังงานได้ประมาณ 525,000 บาท/ปี เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและสร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชน และยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 อีกด้วย
"โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่ชุมชนคีรีวง จัดทำขึ้น เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเทือกเขาห่างไกล ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปา ระบบสายส่งไฟฟ้า ไม่สามารถเข้าถึงตัวชุมชนได้ ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องอาศัยเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ ภายในครัวเรือน และต้องแบกรับต้นทุนการทำเกษตรกรรม รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อเดือนของแต่ละครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหาทางด้านพลังงานข้างต้น จึงได้มีการบูรณาการและหารือร่วมกันระหว่างชุมชน สถาบันวิชาการ และกระทรวงพลังงาน และได้เสนอโครงการผลิตไฟฟ้ากังหันน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่ชุมชนคีรีวง โดยเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำบนภูเขามายังจุดติดตั้งกังหันน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในครัวเรือนและกิจกรรมการเกษตร การดำเนินการเป็นไปในรูปแบบประชารัฐ ที่กระทรวงพลังงานในฐานะภาครัฐให้เงินสนับสนุน 60% และชาวบ้านสมทบเพิ่มอีก 40 % เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและสร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชน ช่วยลดรายจ่าย พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้พร้อมๆ กัน" พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าว