กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--ศุภาลัย
เมื่อพูดถึงภาวะเศรษฐกิจว่าจะดีหรือไม่ดี ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการลงทุนของรัฐบาล การส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ที่จริงแล้ว ภาคเศรษฐกิจทั้งสามนั้นส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เป็นลำดับท้ายที่สุด โดยเรียงตามลำดับข้างต้น
เพราะอะไรหรือ? เพราะว่า การลงทุนของรัฐบาลกับการท่องเที่ยวมีสัดส่วนจากเศรษฐกิจโดยรวมน้อยมาก กล่าวคือแม้ว่าการลงทุนของรัฐบาลจะขยายตัวในอัตราสูงเท่าใด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะถูกลดทอนลงเหลือเพียงหนึ่งในยี่สิบ เพราะว่าการลงทุนภาครัฐบาลมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของจีดีพีเท่านั้น การท่องเที่ยวยังไม่ต้องพูดถึงเพราะน้อยกว่ามาก และเป็นส่วนที่รวมอยู่ในการส่งออกสินค้าและบริการอยู่แล้ว
แม้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการ จะมีสัดส่วนถึง 75% ของจีดีพี แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบหลังจากที่หักล้างด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการแล้วเท่านั้น ซึ่งเราเรียกว่าดุลการค้า และมีสัดส่วนเพียงประมาณ 7.5% ของ จีดีพีเท่านั้น ที่สำคัญของลักษณะเศรษฐกิจไทย คือ การส่งออกที่ขยายตัวในอัตราสูงมักจะมาควบคู่กับการนำเข้าที่อัตราสูงกว่า ดังนั้นเราจึงไม่ควรดีใจเมื่อการส่งออกโตเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกโตน้อยหรือติดลบ แต่ดุลการค้าเป็นบวกมากและส่งผลกระทบทางบวกต่อจีดีพี
ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญหรือมีสัดส่วนสูงในจีดีพี คือการบริโภคเอกชน 50% การลงทุนเอกชน 20% และการบริโภครัฐบาล 15% ตามลำดับ ปี 2555 เป็นปีที่จีดีพีขยายตัวสูง 6.5% เนื่องจากการบริโภคเอกชนโต 6.6% การลงทุนเอกชนโต 14.4% และการบริโภครัฐบาล โต 7.5%
อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนภาคเอกชนเท่าที่ควร ในขณะที่รัฐบาลบางรัฐบาลใช้ประโยชน์จากนโยบายเร่งการบริโภคเอกชนจนนำมาสู่ความซบเซาหลายๆปีหลังจากนั้น เนื่องจากเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน