กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมงร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลาช่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2560 โดยโครงการประสบผลสำเร็จและมีการร่วมกันขยายผลการเพาะพันธุ์ปลาช่อน ส่งผลให้มีการเลี้ยงปลาช่อนโดยใช้ลูกพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าผลผลิตปลาช่อนจากการเพาะเลี้ยงของไทยอยู่ที่3,800 ตันต่อปี ปัจจุบันในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดอ่างทอง ผู้เลี้ยงปลาช่อนเริ่มประสบปัญหาจากการที่แม่ค้าไม่มาจับปลาช่อนที่บ่อเนื่องจากแม่ค้าส่วนหนึ่งหันไปซื้อปลาจากประเทศกัมพูชาที่มีราคาต่ำกว่า ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนยังคงอาศัยแม่ค้าในการจำหน่ายผลผลิต ยังไม่มีการจำหน่ายผลผลิตโดยตรงสู่ตลาด เนื่องจากขาดข้อมูลด้านการบริหารจัดการการตลาด ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานรวมถึงร่วมกันบริหารจัดการด้านตลาด โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในโครงการ "ประชารัฐ" เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กรมประมงร่วมกับสวก. ประสานกับผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทสโก้โลตัส เพื่อหาแนวทางการวางผลิตภัณฑ์ปลาช่อนในห้างเทสโก้โลตัส ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ผู้จัดการทั่วไปของโลตัส พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมงเข้าหารือและ ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาช่อนอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองโดยโลตัสเตรียมจัดส่งทีมปฏิบัติการเข้ามาดูรายละเอียดผลิตภัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ในการจำหน่ายในห้างโลตัส เกษตรกรต้องได้รับมาตรฐานฟาร์ม GAP ดังนั้นกรมประมงจึงเร่งดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาช่อน ให้แก่กลุ่มเกษตรกรในอำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า และในวันที่ 28 มีนาคม 2560 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดร่วมกับกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำจัดอบรมการแปรรูปปลาช่อนให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลาช่อนให้ได้มาตรฐานต่อไป