กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กรมประมง
"มาตรการปิดอ่าวทะเลฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายนของทุกปี" เป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตเพื่อจะได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดการทำการประมงอย่างยั่งยืน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมประกาศปิดอ่าวทะเลฝั่งอันดามัน ประจำปี 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาถึง 32 ปี โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ผลจากการสำรวจสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณเขตปิดพื้นที่ทางทะเลฝั่งอันดามันด้วยเรือสำรวจประมง พบว่าในช่วงเวลาก่อนมาตรการมีอัตราการจับเฉลี่ยเพียง 150.59 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และช่วงระหว่างมาตรการฯ มีอัตราการจับเฉลี่ยถึง 826.61 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่ามีอัตราการจับเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.47 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบอัตราการจับสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย โดยฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งทำการประมงที่สำคัญพื้นที่บริเวณระหว่างเกาะพีพีและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้ บริเวณที่ทรัพยากรสัตว์น้ำเคยเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการทำประมงที่มากเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติในช่วงระหว่างมาตรการยังพบว่ามีปลาทูขนาดเล็กเกิดขึ้นมากกว่าช่วงอื่นๆ อีกทั้ง ปลาผิวน้ำและปลาหน้าดินชนิดอื่นๆ ก็กลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรการปิดอ่าวทะเลฝั่งอันดามัน ยังคงสอดคล้องกับช่วงฤดูการวางไข่และเลี้ยงตัวของทรัพยากรสัตว์น้ำและสามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี
สำหรับมาตรการปิดอ่าวทางทะเลฝั่งอันดามันประจำปี 2560 (1 เม.ย. – 30 มิ.ย.60) ยังคงดำเนินมาตรการโดยใช้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีรายละเอียดเครื่องมือทำการประมงที่ห้าม / ยกเว้น ดังนี้
เครื่องมือประมงที่ห้ามทำการประมง เครื่องมือประมงที่ได้รับการ ยกเว้น ให้ทำการประมง
(1)เครื่องมืออวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล(2)เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิด(3)เครื่องมืออวนติดตาที่มีช่องตาเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตรบทกำหนดโทษหากชาวประมงรายใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า และเครื่องมือ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตวน้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบ (1)เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบกับเรือกล (เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้มีคานถ่าง หรือ อวนลากแคระ) ที่ใช้ประกอบกับเรือกล ซึ่งใช้เชือกเส้นใยประดิษฐ์เป็นสายลากอวน เฉพาะในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น(2)เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก(3)เครื่องมืออวนโป๊ะ
ทั้งนี้ ในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยขณะนี้มีการทำแผนลาดตระเวนร่วมกับ ศรชล. เขต 3 อย่างละเอียดในทุกพื้นที่ปิดอ่าวฯ และหากพบการกระทำผิดจะเข้าจับกุมทันที โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนัก รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน
โดยในปีนี้ กรมประมงได้กำหนดจัดพิธีประกาศปิดพื้นที่ทางทะเลฝั่งอันดามันในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ณ ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ทุกท่านไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว สุดท้ายนี้ ฝากถึงพี่น้องชาวประมงขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด...อธิบดีกรมประมง กล่าว