กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. ชี้สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนเมษายน 2560 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสุกร ส่วน ข้าวและกุ้งแนวโน้มราคาลดลงเล็กน้อย
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร ในช่วงเดือนเมษายน 2560 สินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า ราคาเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50-3.00 อยู่ที่ราคา 6.58-6.67 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดรุ่น 2 เริ่มหมดจากตลาด และเข้าสู่ฤดูกาลปลูกข้าวโพดรุ่น 1 (ปลูกเดือนเมษายน-มิถุนายน) ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น้ำตาลทรายดิบ คาดว่า ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คในตลาดโลก จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 19.46-20.07 เซนต์/ปอนด์ (15.11-15.48 บาท/กก.) เนื่องจากการเข้ามาซื้อน้ำตาลทรายดิบคืนจากตลาด (Short-covering) ของนักลงทุน ประกอบกับผลผลิตอ้อยในอินเดียและจีนมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกของเดือนเมษายนลดลงตามไปด้วย มันสำปะหลัง คาดว่า ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.97 -5.26 อยู่ที่ราคา 1.55-1.60 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดลดลง และราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ยางพารา คาดว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.26-9.00 อยู่ที่ราคา 76.88-79.61 บาท เนื่องจากเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตบางส่วนหายไปจากตลาด ปาล์มน้ำมัน คาดว่า ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.21 – 5.26 อยู่ที่ราคา 5.00 – 5.20 บาท/กก. เนื่องจาก การดำเนินการตามประกาศแนะนำราคารับซื้อของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมัน สุกร คาดว่า ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 59.66-61.41 บาท/กก. เนื่องจาก คาดว่า ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลเช็งเม้ง ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าว คาดว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.0-3.7 อยู่ที่ราคา 7,200-7,400 บาท/ตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.9-3.0 อยู่ที่ราคา 9,000-9,200 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.4 -2.2 อยู่ที่ราคา 11,000-11,200 บาท/ตัน เนื่องจากการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมของภาครัฐในปริมาณมาก และอุปทานข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากผลผลิตข้าวนาปีของเวียดนามและอินเดียที่จะออกสู่ตลาดก่อนหน้านี้ กุ้ง คาดว่า ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.29-4.71 อยู่ที่ราคา 215-225 บาท/กก. เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมแหล่งเพาะเลี้ยงและสถานการณ์โรค EMS ได้คลี่คลายลง เกษตรกรสามารถผลิตกุ้งออกสู่ตลาดได้ปริมาณเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกลุ่มงานวิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนา 02-280-0180 ต่อ 2636