กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำและสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ นายแพทย์ แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และ ศาสตราจารย์ ดร. พญ. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมแถลงข่าว เรื่อง โพล ติดกล้องหน้ารถ ช่วยคนดี ชี้คนผิด มาตรการภาคประชาชน คุมเข้มอุบัติเหตุ สงกรานต์ 60 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,499 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13 – 19 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 45.1 จะใช้รถยนต์ส่วนตัว เดินทางไปเที่ยวช่วง สงกรานต์ รองลงมาคือ ร้อยละ 40.3 จะใช้รถยนต์โดยสาร เช่น รถตู้ รถทัวร์ ในขณะที่ร้อยละ 8.9 จะใช้รถมอเตอร์ไซต์ บิ๊กไบค์ และร้อยละ 5.7 จะใช้วิธีอื่นๆ เช่น รถไฟ โดยประชาชนที่ถูกศึกษาเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.8 ระบุ ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมา คาดว่า คนจะตายมากขึ้น เมื่อเทียบกับ สงกรานต์ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.8 ระบุ รู้สึกเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรืออาจเสียชีวิต ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เมื่อถามถึง วิธีแก้ปัญหา เมื่อเจอพฤติกรรมขับรถอันตรายของ คนเมาแล้วขับ บนถนนเส้นทางเดียวกัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุ อยู่ห่างๆ ในขณะที่ร้อยละ 53.9 ระบุ ติดกล้องหน้ารถ และร้อยละ 40.2 ระบุแจ้งตำรวจ 191 หรือ ตำรวจทางหลวง 1193 อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง การติดกล้องหน้ารถของตนเอง เฉพาะผู้ตอบแบบสอบถามที่ขับรถยนต์ พบว่า ร้อยละ 19.8 ได้ติดกล้องหน้ารถแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว พบว่า มีแนวโน้มของคนที่ติดกล้องหน้ารถเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ปี พ.ศ. 2559 เป็น ร้อยละ 15 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และล่าสุดอยู่ที่ ร้อยละ 19.8 ในเดือนมีนาคมนี้
เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอต่อ การออกมาตรา 44 ลดตาย อุบัติเหตุ สงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ระบุเสนอให้มีการส่งเสริม มาตรการ ติดกล้องหน้ารถ รองลงมาคือ ร้อยละ 85.6 เสนอให้ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ คนขับ ต้นเหตุอุบัติเหตุ ทุกรายไม่มีเว้น ให้ หมอโรงพยาบาล สาธารณสุข สามารถตรวจจับได้ แทนการใช้ดุลพินิจของตำรวจเพียงอย่างเดียว และร้อยละ 73.1 ระบุ เสนอให้เอาผิดคนนั่งไปกับ คนเมาแล้วขับ ร่วมรับผิดด้วย
แต่ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 เห็นด้วย ต่อ การติดกล้องหน้ารถ เป็นการส่งเสริม มาตรการภาคประชาชน ช่วยคนดี ชี้คนผิด ลด ปัญหาทุจริต รีดไถ ของเจ้าหน้าที่ และลด เหตุร้าย ปัญหาอาชญากรรม บนถนนอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังพยายามหาวิธีใหม่ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองโดยแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะช่วยกันสร้างบรรยากาศรื่นเริง สงกรานต์อย่างปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น ธุรกิจน้ำเมาจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมลดละการกระตุ้นให้เกิดยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่ประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกกังวลและไม่ปลอดภัยเมื่อเจอคนขับรถอันตราย เมาแล้วขับ และภาคประชาชนได้เริ่มแล้วในการติดกล้องหน้ารถของตนเองโดยยังไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ถ้าภาครัฐสนับสนุนย่อมจะทำให้เกิดการติดกล้องหน้ารถคอยควบคุมพฤติกรรมขับรถอันตรายเมาแล้วขับของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ นายแพทย์ แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า การติดกล้องหน้ารถ จึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ยั่งยืน เพราะเป็นมาตรการที่ประชาชนผู้ขับขี่รถจะตรวจสอบซึ่งกัน และกัน ทั้งนี้ โดยอาศัยโซเชี่ยลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมปัจจุบันเป็นตัวชี้วัด ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์ ปี 60 นี้ มูลนิธิเมาไม่ขับ ขอแนะนำให้เจ้าของรถทุกประเภทติดกล้องหน้ารถก่อนออกเดินทาง ซึ่งปัจจุบันมี ผู้ติดกล้องหน้ารถประมาณ 15 – 20 % และถ้าปริมาณการติดกล้องหน้ารถเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 50 % เชื่อว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะลดลงอย่างแน่นอน สำคัญไปกว่านั้น กล้องหน้ารถที่ทุกท่านจะช่วยเป็นหลักฐานให้คนดี ๆ บนท้องถนนไม่ตกเป็นจำเลยหรือเหยื่อบนท้องถนน ขณะเดียวกันสามารถช่วยชี้เบาะแสจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อีกด้วย