กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ม.ศิลปากร
นิทรรศการ "สายสัมพันธ์" โดย ศิลปินกลุ่ม ไวท์ 12 ตุลาคม-30 ตุลาคม 2544 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
กลุ่มไวท์ร่วม และ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญร่วมในพิธีเปิดนิทรรสการ "สายสัมพันธ์" (Bond) ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2544 เวลา 18.30 น. โดย คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี และนิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึงวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2544 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 9.00-19.00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์
กลุ่มไวท์ (White Group) เป็นกลุ่มศิลปินยุคบุกเบิกของการรวมกลุ่มศิลปินที่มีการจัดนิทรรศการแบบที่มีแนวคิดหลัก (Thematic Exhibition) โดยเริ่มรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2555 เริ่มจากการรวมกลุ่มของศิลปินที่ทำงานสีน้ำ และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนสลายขอบเขตของสื่อสีน้ำออกไป และมีการนำสื่อชนิดต่างๆ เข้ามาร่วมในการแสดงงานเป็นลำดับและในนิทรรศการ "สายสัมพันธ์" (Bond) ในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของกลุ่มไวท์อีกครั้ง ได้แก่ สราวุธ ดวงจำปา, วิโชค มุกดามณี, พิชิต ตั้งเจริญ, ปัญญา วิจินธนสาร, สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงษ์, สุรพล แสนคำ, สมวงศ์ ทัพพรัตน์, สรรณรงค์ สิงหเสนี, ศุภชัย สุกขีโชติ, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ และศิลปินรับเชิญ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข ในการที่จะร่วมในการแสดงเจตจำนงค์ต่อความเป็นไปของศิลปะร่วมสมัย และต่อเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งที่เสียชีวิตไป-มณเฑียร บุญมา-ศิลปินร่วมสมัยของไทยที่ได้รับการยกย่องในระดับสากล นิทรรศการในครั้งนี้ เกิดจากความพยายามที่จะถ่ายทอด "ความผูกพัน" มีที่มาจากความสัมพันธ์ที่ยาวนานและลึกซึ้งในกลุ่มไวท์ ที่รวมตลอดถึงศิลปินในกลุ่มและมณเฑียร บุญมา
ประเด็น "ความผูกพัน" ที่เป็นเรื่องของความรู้สึก และไม่อาจประเมินคุณค่าในทางและเหตุผลได้นี้ ดูเสมือนจะประเด็นที่อ่อนไหว ปราศจากแรงขับที่รุนแรงที่สนองต่อทิศทางหรือกระแสร่วมทางศิลปะร่วมสมัยมากนัก แต่ได้สะท้อนลักษณะทางสังคมประการหนึ่งคือ ประเด็นการมองตัวบุคคลมากกว่าผลงาน ซึ่งเป็นประเด็นหลักในนิทรรศการครั้งนี้ ที่เป็นความพยายามของศิลปินในกลุ่มในการที่จะมองประเด็นตัวบุคคลออกไป และแทนที่ด้วยการมองที่ความผูกพันในผลงานและแนวความคิดต่อผลงานที่มณเฑียรทำ เรียกได้ว่าย้ายจากบุคคลมาสู่ความสัมพันธ์ มาเป็นจากผลงานของอาจารย์มณเฑียรมาสู่ความสัมพันธ์ โดยให้ความสำคัญในแง่มุมที่มณเฑียรเป็นนอกเหนือจากความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง มาเป็นในฐานะศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยด้วยความร่วมมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจ เปิดกว้างทางความคิด ตลอดจนมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของไทย
ในนิทรรศการ "สายสัมพันธ์" ศิลปินในกลุ่มได้เข้าร่วมพิจารณาและสนทนากับ "ผลงาน" ของมณเฑียร และสร้างแรงบันดาลใจภายใต้กรอบเสรีภาพในการตีความ เชื่อมโยง ถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด จินตนาการ แฟนตาซี ตรรกศาสตร์ ฯลฯ เพื่อโยงความสัมพันธ์ในเชิงวัตถุกลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นตัวบุคคลถึงมณเฑียร บุญมา ซึ่งศิลปินในกลุ่มได้นำเสนอผลงานที่ยังคงความเป็นปัจเจกภาพที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิด--จบ--
-นห-