กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ทีม DSLU Eco Car – I.C.E. อินโดนีเซีย ครองตำแหน่งผู้ขับที่เร็วที่สุดและประหยัดพลังงานมากที่สุดในเอเชีย จบงานสุดยอดแนวคิดและนวัตกรรมล้ำสมัยด้านพลังงานสำหรับเอเชียอย่างสวยงาม
งานสุดยอดแนวคิดและนวัตกรรมล้ำสมัยด้านพลังงานของเชลล์ อย่าง 'Make the Future' ที่ประเทศสิงคโปร์ได้ปิดฉากลงแล้วท่ามกลางการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมันระดับเอเชีย โดยทีม DSLU Eco Car –I.C.E. จากมหาวิทยาลัย De La Salle ประเทศฟิลิปปินส์ สามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันครั้งนี้
การแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมันระดับเอเชียที่จัดขึ้น ณ สนามแข่งยาวกว่า 1.19 กิโลเมตรนั้นผู้ชนะจากการแข่งขันในประเภท Urban Concept ของ เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ประจำปี 2017 จะร่วมลงสนามแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมันรอบชิงชนะเลิศ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ทีม DSLU Eco Car – I.C.E. ที่คว้าชัยชนะจากการแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ จะได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอนกับทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Bengawan จากมหาวิทยาลัย Sebelas Maret และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม ITS จากInstitut Teknologi Sepuluh Nopember ทั้งหมดจากประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมความพร้อมเพื่อพบกับคู่แข่งอีก 3 ทีมจากอเมริกาและยุโรป ทีมที่ทำสถิติดีที่สุดจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ด้วยการคว้าแชมป์ แกรนด์ ไฟนอล และสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษ ณ ถิ่นกำเนิดของสคูเดอเรีย เฟอร์รารี่
นายคาร์โล มิเกล ฟลอเรส อายุ 19 ปี ผู้ชนะการแข่งขันจากเชื้อเพลิงประเภทแกสโซลีน กล่าวว่า "ผมไม่อยากเชื่อเลยครับ! ทุกคนในทีมก็เหมือนกัน นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากของพวกเรา เราเตรียมตัวหนักมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ตอนนี้พอทราบว่าจะได้ไปลอนดอน ได้โอกาสลงแข่งอีกครั้งเพื่อลุ้นไปอิตาลี และได้ไปถึงถิ่นกำเนิดของเฟอร์รารี่ ก็ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีกครับ!"
สำหรับปีที่ผ่านมา Bumi Siliwangi Team 4 จาก มหาวิทยาลัยเพ็นดิดิกาน ประเทศอินโดนีเซีย ได้คว้าชัยชนะจากการการแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน ที่กรุงลอนดอน ก่อนจะออกเดินทางไปสมทบกับผู้ชนะจากเชลล์ อีโค-มาราธอน ณ เมืองมาราเนลโล ประเทศอิตาลี และเป็นครั้งแรกของโลกที่รถต้นแบบประหยัดพลังงานได้ลงสู่สนามแข่งเฟอร์รารี่ในตำนานอย่างฟิโอราโน เซอร์กิต หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2515 และปรับปรุงใหม่โดยใช้ยางมะตอย Shell Cariphalte จากเชลล์ เมื่อปี 2545
แมธเทีย บินอตโต ผู้อำนวยการด้านเทคนิคจาก สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้พบผู้ชนะจากเชลล์ อีโค-มาราธอนทุกท่านในปีที่ผ่านมา และเราพร้อมต้อนรับทุกท่านอีกครั้งในปีนี้ ความทุ่มเทที่เราเห็นจากผู้เข้าแข่งขันทุกท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราเช่นกัน และเราเชื่อว่าวิศวกรรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตที่จะก้าวหน้าไปอย่างแท้จริง เราจึงยินดีให้ความช่วยเหลือทุกด้านเพื่อจุดประกายให้ทุกคนเดินหน้าต่อไป"
มร. นอร์แมน คอช ผู้จัดการทั่วไปของ การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน กล่าวว่า "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงาน "Make the Future" มีความตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้เห็นความพยายามในการทำทุกสิ่งให้เป็นไปได้จากนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อเตรียมพร้อมรับความท้าทายจากการแข่งขันสุดยอดนักขับรถประหยัดน้ำมัน การโคจรมาพบกันของคำว่า "ประหยัดพลังงาน" และ "ความเร็ว" ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรามีความมั่นใจว่าจะมีการค้นพบเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่น่าประทับใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และทั้งหมดนี้จะทำให้การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน ตื่นเต้นเร้าใจขึ้นไปอีก ซึ่งนับเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคนทีเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วย"
ในวันสุดท้ายของการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย มีการประกาศรางวัลสำหรับรถ Prototype ผู้ทำสถิติวิ่งได้ไกลทีสุดด้วยเชื้อเพลิง 1 ลิตร คือ ทีม Virgin จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ประเทศไทย ด้วย เชื้อเพลิง Internal Combustion Engine (ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิง เบนซิน ทำสถิติ วิ่งได้ระยะทาง 2,288.9 กิโลเมตรเทียบเท่าการใช้น้ำมัน1 ลิตร นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับรางวัลจากเชื้อเพลิง Battery Electric คือ ทีม HuaQi-EV จาก Guangzhou College of South China University of Technology ประเทศจีน ด้วยสถิติวิ่งได้ระยะทาง 474.1 กิโลเมตรต่อกิโลวัตต์ฮาวน์ และทีม UiTM Eco-Sprint จาก Universiti Teknologi Mara (UiTM) Shah Alam ประเทศมาเลเซีย ด้วยสถิติวิ่งได้ระยะทาง 359.4 กิโลเมตรต่อกิโลวัตต์ฮาวน์ จากประเภทเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
นอกเหนือจากผู้ชนะจากการแข่งขันในสนามแข่งแล้ว ยังมีการประกาศรางวัลผู้ชนะจากการแข่งขันรางวัลอื่นๆ นอกสนามแข่งในหมวดต่างๆ สำหรับทักษะและความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น ได้แก่ รางวัลด้านการสื่อสาร การออกแบบยานพาหนะ นวัตกรรมทางเทคนิค ความปลอดภัย และ ความพยายามและสปิริตจากการแข่งขัน
งาน Make the Future สิงคโปร์ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จากทั้งบุคคลทั่วไป ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ เพื่อร่วมค้นหาทิศทางด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสพื้นที่แสดงผลงานต่างๆ ภายในงาน