กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--โพลีพลัส พีอาร์
หน้าร้อนมา 'เทศกาลสงกรานต์' วันเวลาแห่งความสุขอีกช่วงหนึ่งของคนไทย ก็มาเช่นกัน นอกจากได้หยุดยาวต่อเนื่อง ยังเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ได้ทำบุญร่วมกัน ได้รดน้ำดำหัว กราบไหว้ผู้สูงอายุเพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งยังได้สนุกกับการสาดน้ำเล่นน้ำตามประเพณี รวมถึงกิจกรรมรื่นเริงใจบันเทิงใจ ที่จะเกิดขึ้นในงาน สงกรานต์ เฟสติวัล ๒๕๖๐ โดย ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 อโศก ระหว่างวันที่ 11 ถึง 19 เมษายน 2560 นี้ ท่ามกลางบรรยากาศของวันวาน ตามวิถีและวัฒนธรรมย่านตลาดเก่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 อโศก กล่าวว่า "งาน 'สงกรานต์ เฟสติวัล' ในปีนี้ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 อโศก ยังคงจัดงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณีไทย ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญกับ 'วันสงกรานต์ปีใหม่ไทย' มากขึ้น โดยเนรมิตพื้นที่จัดงานภายในศูนย์ฯ ให้กลายเป็นวันวานย่านตลาดกรุงเก่า ที่เต็มไปด้วยร้านค้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วก็ยังเชิญชวนให้ทุกคนในครอบครัว มาร่วมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคลตามประเพณีสืบทอด และที่สำคัญไปกว่านั้น อยากให้ทุกคนมาสัมผัสและชื่นชม เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของ 'นาฎศิลป์ไทย' ที่หาดูยากและมีให้ชมตลอดงาน"
ภายในงานท่ามกลางบรรยากาศกรุงเก่า นอกจากจัดให้มี การสรงน้ำพระ ประเพณีสืบทอดตามความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณกาลที่ว่า "อานิสงส์จากการสรงน้ำพระ จะพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง" อันเป็นวิถีปฏิบัติดีงามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังจะได้ชมการแสดงนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นความงดงาม ความอ่อนช้อย และความวิจิตรของเครื่องแต่งกายที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดง 'โขน' นาฏศิลป์ชั้นสูงเก่าแก่ของไทย จากคณะ กรนิตยศิลป์ โดย 'อาจารย์ธนพัชร์ ขาวรุ่งเรือง' ศิลปินอาวุโสสำนักสังคีต กรมศิลปากร, 'การแสดงหุ่นคน' จาก ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะหุ่นคนคณะแรกของเมืองไทย ที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย การแสดงที่จะทำให้เห็นว่า นี่คือนาฏกรรมเก่าแก่อันน่าอัศจรรย์ใจของมนุษย์ เพราะความสามารถที่ใช้ร่างกายแทนหุ่นเชิด ร่ายรำไปตามท่วงทำนองด้วยแรงชักเชิดดังต้องมนต์, 'การแสดงหุ่นละครเล็ก' จาก คลองบางหลวง คณะคำนาย โดย 'อาจารย์วัชระ ประยูรคำ' นาฏการแสดงที่มีอายุยาวนานมากว่า 100 ปี ที่ใช้ความสามารถเฉพาะทางในการเชิดหุ่น โดยผู้เชิดจะต้องมีพื้นฐานโขนและละครเป็นอย่างดี สำคัญนักผู้เชิดทั้ง 3 คน จะต้องรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณไปยังตัวหุ่น ให้เคลื่อนไหวดุจมีชีวิต ด้วยท่วงท่าที่อ่อนช้อยและงดงาม
นอกจากนี้ ยังจะได้ชมการแสดงนาฏศิลป์ไทยพื้นเมือง 4 ภาค ที่กำกับการแสดงโดย 'อาจารย์วัชรพงษ์ สูงปานเขา' ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อาทิ ฟ้อนผางประทีป การแสดงจาก ภาคเหนือ ศิลปะการฟ้อนรำที่มีมาแต่โบราณ เพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการ ฟ้อนรำที่ดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้ดไว้, ระบำวิชนี การแสดงจาก ภาคกลาง ระบำที่สร้างสรรค์ลีลาท่ารำขึ้นมา ตามแนวคิดอันเฉียบคมของ 'ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี' ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า "ประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนอบอ้าวคนไทยจึงนิยมใช้พัดรำเพยลม เพื่อบรรเทาความร้อน", รำกระทบไม้ การแสดงจาก ภาคอีสาน การละเล่นพื้นเมืองของชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่เดิมเรียกว่า "เต้นสาก" แตกความคิดมาจากการที่ประเทศไทย คนส่วนใหญ่มีอาชีพทางกสิกรรมมาช้านาน คลุกคลีอยู่กับการทำนา ตั้งแต่หว่าน ไถ ดำ และเก็บเกี่ยว แต่ด้วยนิสัยรักสนุก หลังจากเลิกงาน จึงนำสากตำข้าวมากระทบกัน เป็นเครื่องประกอบจังหวะ พร้อมกับมีการละเล่นให้เข้ากับจังหวะ, โนรา หรือ มโนห์รา การแสดงจาก ภาคใต้ การละเล่นที่มีทั้งการร้องและการรำอันสวยงาม แทรกด้วยความแข็งแรง สืบทอดและนิยมกันอย่างแพร่หลายและยาวนานในภาคใต้ ซึ่งอาจจะแสดงเป็นเรื่อง หรือแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรมก็ได้
มาคลายร้อน ย้อนวันวาน...ไปในตลาดกรุงเก่า พร้อมสืบสานวัฒนธรรมไทย ในช่วง สงกรานต์ นี้ กับนาฏศิลป์ไทย ในงาน "สงกรานต์ เฟสติวัล ๒๕๖๐" ที่ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 อโศก
*** ตารางการแสดง
· การแสดงนาฏศิลป์ไทยพื้นเมือง 4 ภาค
- 13 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น. / เวลา 18.00 น.
ฟ้อนผางประทีป / ระบำวิชนี / รำกระทบไม้ / มโนห์รา
· การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์
- 14 เมษายน 2560 เวลา 13.00 น. / เวลา 17.00 น.
ตอน ทศกัณฐ์ลักนางสีดา / พระรามตามกวาง / ทศกัณฐ์ตีนกสดายุ / ยกรบ
- 15 เมษายน 2560 เวลา 13.00 น./ เวลา 17.00 น.
ตอน ทศกัณฐ์เกี้ยวนางเบญกาย / พระรามลงสรง / หนุมานจับนางเบญกาย
· การแสดงหุ่นคน เรื่อง เงาะป่า และ พระมหาชนก
- 16 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น / เวลา 18.00 น.
· การแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง รามเกียรติ์
- 17 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น./ เวลา 18.00 น.
ตอน นางลอย / ทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดา / หนุมานจับนางเบญกาย