กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและกลางย่อม
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong / Regular Level) ว่า สสว. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอาหาร และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนา SMEs กลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ จำนวน 20,000 กิจการทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy และการพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ New Economy ตามนโยบายของรัฐบาล
"สสว. ได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต หรือ SME Strong / Regular Level เมื่อปี 2559 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดรับสมัคร SMEs จำนวน 10,000 กิจการ จากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ โดยแบ่งเป็น
กลุ่ม Strong คือ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง 2,473 กิจการ สสว. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนาเรื่องการสร้างแบรนด์ จำนวน 1,581 กิจการ ด้านนวัตกรรม 321 กิจการ ด้านการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ 271 กิจการ และช่องทางการตลาดใหม่โดยการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ 300 กิจการ สำหรับ SME อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีศักยภาพจะเติบได้ (Regular) มีจำนวนประมาณ 8,000 กิจการ สสว. ได้ช่วยเรื่องการขยายช่องทางการจำหน่ายด้วย E-Commerce โดยช่วยการถ่ายภาพและจัดทำเนื้อหาของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งสินค้าและบริการ"
"ในปี 2560 สสว. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอาหาร และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการอีกจำนวน 10,000 กิจการ
สำหรับแผนงานปี 2560 จะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันตามลักษณะการดำเนินธุรกิจของ SME เช่น SME ในภาคการผลิต จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการลดต้นทุน ส่วนภาคการค้าและบริการ เน้นกลุ่มท่องเที่ยว สปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ SME ไทยมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะเข้าไปช่วยในเรื่องการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการบริการให้เป็นสากล และเชื่อมโยงสู่การลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้จะขอความร่วมมือเพื่อบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนั้น สสว. ตั้งเป้าหมายจะพัฒนากิจการค้าส่ง – ค้าปลีก และการขนส่งในภูมิภาค ในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ และการขยายเครือข่าย เพราะธุรกิจเหล่านี้ เป็นตัวเชื่อมโยงรับสินค้าจาก SME รายย่อย และวิสาหกิจชุมชน เพื่อกระจายสู่ผู้บริโภคในตัวเมือง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจหลักที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาSME ให้เข้าสู่ระบบ E-Commerce อีกด้วย" นางสาลินี ผอ.สสว. กล่าว