กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จัดอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน เปิดรวดเดียว 3 หลักสูตร เตรียมความพร้อมสอบ IELTS -TOEFL เขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ นำเสนองานระดับนานาชาติ เชื่อช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงาน เป็นบันไดเรียนต่อต่างประเทศ
นายฆรวัณณ์ สถล นักวิชาการศึกษาประจำศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการอบรมภาษาอังกฤษให้แก่บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ตลอดเดือน พ.ค.60 ว่า วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าอบรมฟรีใน 3 หลักสูตร ได้แก่ ภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมสอบ IELTS และ TOEFL รับหลักสูตรละ 15 คน อบรมวันที่ 15–18 พ.ค. การเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ และ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนองานระดับนานาชาติ รับหลักสูตรละ 20 คน อบรมวันที่ 22–25 พ.ค. วันละ 5 ชั่วโมง รวม 20 ชั่วโมง ซึ่งเหตุผลที่ศูนย์ภาษาฯ เลือกจัดอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมสอบ IELTSและ TOEFL เนื่องจากเล็งเห็นว่าผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ มักมีโอกาสในการทำงานและประสบความสำเร็จในการสอบแข่งขัน เพื่อไปศึกษาต่อหรือฝึกอบรมความรู้ต่างๆในต่างประเทศ มากกว่าผู้ที่ขาดความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากในแต่ละปีที่มีบุคลากรจำนวนมากต้องการเพิ่มพูนความรู้ทางภาษา เพื่อนำไปใช้ในการสอบแข่งขัน หรือเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
นายฆรวัณณ์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับหลักสูตรการเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ ที่จะช่วยให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาทักษะทางภาษามากยิ่งขึ้น สร้างความมั่นใจและเพิ่มศักยภาพในงานวิชาการหรืองานวิจัย ในการได้รับคัดเลือกให้เข้านำเสนองานหรือได้ตีพิมพ์ ขณะที่หลักสูตรการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนองานระดับนานาชาติ มุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ จุดประสงค์ องค์ประกอบ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการนำเสนองานระดับนานาชาติ โดยในปีงบประมาณ 2558 และ 2559 ที่ผ่านมา มีการจัดอบรมในหลักสูตรดังกล่าว และผู้ให้ความสนใจที่จะพัฒนาทักษะในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุว่าการนำเสนอผลงานวิชาการหรืองานวิจัยสู่สาธารณชนนั้น มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ข้อมูลหรือความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าถูกถ่ายทอดไปยังผู้รับการนำเสนอ ซึ่งมีผลให้ข้อมูลได้รับการยอมรับและมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ฟังว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นควรได้รับการปรับปรุงอย่างไรในงานวิชาการหรืองานวิจัยนั้นๆ