กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านผู้ประกอบการหญิง "Women's Entrepreneurship Conference Bangkok 2017 (WECB2017)" ระหว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท กรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากสหราชอาณาจักร (Newton Fund) บริติชเคานซิล (British Council) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งในวันแรกของการจัดงานวันที่ 3 เมษายน 2560 ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเปิดให้บุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน โดยภายในงานจะมีการปาฐกจากนักธุรกิจหญิงชั้นนำ นักวิชาการจากไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ เช่น ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบริหารธุรกิจครอบครัว ให้ ประสบความสำเร็จ ตลอดจนเคล็ดลับในการเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งในงานนี้ทาง British Council ได้เชิญท่านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย H.E. Brian Davidson มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานด้วย สำหรับกิจกรรมที่จัดในวันที่ 4-5 เมษายน 2560 จะเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติสำหรับนักวิชาการที่ได้รับเชิญเท่านั้น
รายนามผู้ประกอบการหญิงที่ประสบความสำเร็จและนักวิชาการที่ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากร ได้แก่
- คุณกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- Paola Cuneo อดีตผู้อำนวยการ The Sirius Programme และอดีตผู้จัดการทั่วไป บริษัท British Telecom
- คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจตราผลิตภัณฑ์ มาลี
- คุณประธานพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ โรงแรมสยาม@สยาม
- คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด
- คุณแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เค เอฟ ซี
- ศาสตราจารย์ Friederike Welter ประธานกรรมการ The IfM Bonn
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นงานสัมมนาที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ASEAN ที่มีผู้ประกอบการหญิงกว่า 61 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่าผู้ประกอบการหญิงในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริการวมกัน
จากรายงานผลการวิจัยของโครงการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการ (Global Entrepreneurship Monitor : GEM) ที่คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (School of Entrepreneurship and Management, Bangkok University : BUSEM) เป็นตัวแทนเพียงแห่งเดียวใน ประเทศไทยขององค์กร GCEE (Global Consortium for Entrepreneurship) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ ที่มีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่ทำการวิจัยด้านความเป็นผู้ประกอบการ ยังพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ประกอบการชายอีกด้วย
หากพิจารณาธุรกิจในประเทศไทยในภาพรวม พบว่า ผู้ประกอบการทั้งหญิงและชายเหล่านี้ยังคงต้องการการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เนื่องจากกว่าร้อยละ 70 ธุรกิจเหล่านี้ยังคงเป็นธุรกิจขนาดเล็กและมีการเติบโตช้า อีกทั้งยังขาดการพัฒนาในด้านนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจซื้อมาขายไปเท่านั้น เราต้องการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนไทยในอนาคต เนื่องจากธุรกิจที่มีศักยภาพจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและลดช่องว่างในสังคม โดยการสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาสินค้าและนวัตกรรม กระบวนการผลิต การบริการและการค้าขายภายในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการผู้หญิงโดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ งานสัมมนาด้านผู้ประกอบการหญิงในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงจุดแข็งและความท้าทายของผู้ประกอบการหญิง และตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการหญิงทั้งจาก ประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
การจัดงานสัมมนา WECB 2017 ในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาส ในการประกอบธุรกิจ และนักวิจัย ที่มีความสนใจในการพบปะพูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ กลุ่มผู้ประกอบการผู้หญิงและนักวิชาการจากประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยงานสัมมนา WECB จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2015 ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College, London) ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และประสบการณ์ทางสังคม โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับภูมิภาค ถึงระดับสากลมีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านงานวิจัย จนกลายเป็นครั้งแรกของการเริ่มต้นเครือข่ายผู้ประกอบการหญิงระหว่างประเทศไทยและ สหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ
ในปีนี้มหาลัยกรุงเทพรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าบ้านต้อนรับผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและผู้ประกอบการที่มาร่วมงานสัมมนา พูดคุย และแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับผู้ประกอบการหญิงในงาน WECB 2017 นี้
ซึ่งคุณ Andrew Glass ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล (Country Director, British Council) ได้กล่าวว่า "การสนับสนุนผู้ประกอบการผู้หญิง เป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง พันธกิจของพวกเราคือการสร้างโอกาสให้กับคนทั่วโลก และด้วยการสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิง จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและสังคม"