กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--มพช.
"ก.พ." ชี้โอนถ่ายข้าราชการจากส่วนกลางไปช่วยท้องถิ่นได้ผลดี แจงตัวอย่างจากโครงการนำร่องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยทำให้ อบต. คิดและวางแผนการบริหารจัดการด้วยตนเองได้ ขณะที่ อบต. ขนาดเล็กสะท้อนแนวทางรัฐเดินมาอย่างถูกต้อง เตรียมขอยืมเจ้าหน้าช่วยงานต่ออีก 1 ปี
นายสีมา สีมานนท์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.)เผยถึงผลโครงการถ่ายโอนกำลังคนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) พบว่า จากการติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผลของการปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ ที่ต้องการให้ข้าราชการระดับ 6 ลงมา ในสายงานพาณิชย์ การเงินการคลัง การบริหารทั่วไป และสายงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่มีการถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2544 ของ 19 กรม เช่น กรมพัฒนาชุมชน กรมชลประทาน กรมอนามัย กรมประชาสงเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 8,000 คน ไปปฏิบัติงานในองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพ
โดยกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานของข้าราชการในโครงการถ่ายโอนฯ 4 ด้านคือ 1.งานบริหาร ธุรการ และการบริหารงานบุคคล 2.การจัดทำแผนงาน/โครงการ 3.งานการเงิน การคลัง บัญชีและพัสดุ และ4.งานการช่าง/โยธา
จากการเข้าร่วมของข้าราชการในโครงการดังกล่าวประมาณ 2,200 คนจาก 66 กรม ผลปรากฏว่า การปฏิบัติงานของข้าราชการตามโครงการฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้รับประโยชน์และเห็นว่าข้าราชการตามโครงการฯ ช่วยสนับสนุนให้การบริหารการจัดการภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็กที่ขาดแคลนบุคลากรปฏิบัติงานหลายแห่ง มีความต้องการที่จะขอการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยจะขอยืมตัวข้าราชการเพื่อช่วยงานของท้องถิ่นต่ออีก 1 ปี และขณะนี้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้รับการโอนข้าราชการจากโครงการไปเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นเพื่อประสานงานให้เกิดความต่อเนื่อง
"ผลการประเมินข้าราชการที่ไปปฏิบัติงานตามโครงการ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ เนื่องจากได้กลับไปปฏิบัติงานที่ภูมิลำเนาของตนเอง มีข้าราชการในหลายจัวหวัดรวมกลุ่มกันปรึกษาหรารือแนวทางแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและใช้ศักยภาพของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารในท้องถิ่น เช่น ข้าราชการใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา และกลุ่มข้าราชการในจังหวัดสมุทรสาคร"รองเลขา ก.พ.กล่าว
ในการติดตามประเมิน ยังมีข้อเสนอว่า 1.การปรับปรุงโครงสร้างขององค์ปกครองส่วนท่องถิ่น และระบบการบริหารงานบุคคลให้พร้อมที่จะรองรับการถ่ายโอนข้าราชการ 2.การจัดข้าราชการถ่ายโอน ควรพิจารณาข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.การกำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์แก่ข้าราชการถ่ายโอนต้องกำหนดให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ด้อยกว่าข้าราชการประเภทอื่น และ4.การพัฒนาศักยภาพความสามารถและทัศนคติของข้าราชการที่จำเป็น เมื่อไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น
ขอขอบพระคุณในการเผยแพร่ข่าวสาร
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร. 0-2279-8001 , 0-2616-2270-1--จบ--
-นห-