กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--Thebigpotter
สมาคมวิทยาการวัชพืชไทย จัดเสวนา "การเกษตรไทย... ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ?" เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อเท็จจริงสารกำจัดศัตรูพืช ภาครัฐ เอกชน ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อวางกรอบความร่วมมือเชิงนโยบาย ร่วมพัฒนาการเกษตรก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืนร่วมกัน
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเปิดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "การเกษตรไทย... ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ?" ว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่ตัวเกษตรกร นักวิชาการทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมี ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อเท็จจริงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อนำไปสรุปเป็นประเด็นนำเสนอเชิงนโยบาย ในการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยต่อไป
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตรถึง 149 ล้านไร่ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกถึงปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ในพื้นที่การเกษตรทั้งหมด มีการเกษตรอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมี) ประมาณ 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่อีก 148.7 ล้าน หรือ 99.83 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อใช้ป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีสถิติการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (โรค แมลง วัชพืช) ในปี 2520 – 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2520 ปริมาณนำเข้าทั้งหมด 6,811 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 154,568 ตัน ในปี 2559 หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 0.84 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียและเกาหลีใต้ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูงมากเฉลี่ยปีละ 4 และ 8 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ
"สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรด้านวิชาการที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสารกำจัดวัชพืชให้แก่สมาชิกของสมาคมฯ และสาธารณชน ให้ได้รับข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง และติดตามรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ตลอดจนนักวิชาการ และองค์กรเครือข่ายเตือนภัยสารเคมี ร่วมกันเสนอความคิดเห็นและรับฟังเหตุผลทางวิชาการในทุกแง่มุม เพื่อพิจารณากำหนดบทบาทที่ชัดเจนของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา
ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยลานของรัฐบาลอย่างมั่นคงและยั่งยืน"
จากการคาดการณ์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่าในระยะ 33 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 34 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9 พันล้านคนในปี 2597 จะส่งผลให้มีความต้องการอาหารเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่การเกษตรทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน การระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาแรงงงานที่หายากและมีราคาแพง เป็นความท้าท้ายของเกษตรกรที่ต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช การทำเกษตรแบบแม่นยำสูง พันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลิตสูง หรือการใช้พันธุ์พืชตัดแต่งแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานต่อศัตรูพืช แลสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่สามารถให้ผลิตภาพสูงขึ้น ซึ่งสมาคมฯ พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการผลิตสินค้าเกษตร จากต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ของเกษตรกรผู้ผลิต ตลอดจนมาตรการดูแลการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาดโลก และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ รับฟังข้อจำกัด และความกังวลของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันนำเสนอเป็นกรอบความร่วมมือเชิงนโยบายแก่ภาครัฐต่อไป
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน อาทิ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร,ดร.ศุภชัย สุทธิเจริญ เกษตรกรอิสรที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์และ GAP, ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัรฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมด้วย นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย , นายวีระชัย ประทักษ์วิริยะ ตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยจะมีเกษตรกรนักวิชาการ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตัวแทนจากภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้กว่า 300 คน โดยคาดหวังว่าจะเป็นเวทีสร้างสรรค์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งบวกและลบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีบทบาทต่อการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยแลมีคุณภาพของประเทศไทยต่อไป