กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายประชุมทางไกล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพกลไก การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้นตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ย้ำ ศปถ.และทุกหน่วยงานมีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการดูแลความปลอดภัย ในการเดินทางของประชาชนทุกเส้นทาง ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนยึดหลัก "4 ห้าม 2 ต้อง" สร้างความปลอดภัยในการเดินทาง ด้าน ปภ. ประสานจังหวัดดำเนินมาตรการเชิงรุกผ่านกลไกชุมชน/หมู่บ้าน ดูแลความปลอดภัยทางถนนครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ ลดอุบัติเหตุทางถนน และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า การดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ผ่านกลไกประชารัฐ ตาม 6 มาตรการหลัก ประกอบด้วย ด้านถนน มุ่งแก้ไขจุดเสี่ยงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมทางให้มีความปลอดภัย ด้านยานพาหนะ คุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ด้านการสัญจร โดยกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยว ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งบังคับใช้ กฎหมายจราจรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เน้นหนักการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ด้านความปลอดภัยทางน้ำ โดยกำหนดแนวทางการดูแล ความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ และด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ วางระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ การติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงการแจ้งเหตุและการส่งต่อผู้ประสบเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปีนี้ได้เน้นย้ำทุกภาคส่วนให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งจากการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 14 และ 15 โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยเฉพาะการคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ การเชื่อมโยงฐานข้อมูล การกระทำความผิดด้านการจราจรกับการต่อทะเบียนรถ รวมถึงการคุมเข้มการกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะและเพิ่มมาตรการลงโทษตามกฎหมาย แก่ผู้ประกอบการและพนักงานขับรถโดยสาธารณะที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาแล้วขับ นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม การเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี รวมถึงกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและลดอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ ทั้งนี้ ศปถ.และหน่วยงานทุกภาคส่วน มีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทุกเส้นทาง โดยได้สนธิกำลังทุกภาคส่วนตั้งจุดตรวจหลัก ด่านชุมชน จุดบริการประชาชน รวมถึงชุดปฏิบัติการสอดส่องดูแลความปลอดภัย ทั้งบนเส้นทางสายหลัก – สายรอง และถนนในชุมชน/หมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนของภาครัฐเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ทางถนน คือ ความร่วมมือจากประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ขับรถอย่างมีวินัย และมีน้ำใจต่อ ผู้ร่วมใช้เส้นทาง รวมถึงให้ยึดการปฏิบัติตามหลัก "4 ห้าม 2 ต้อง" ได้แก่ 4 ห้าม...ห้ามขับรถเร็ว ห้ามดื่มแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ – 2 ต้อง...ต้องสวมหมวกกันน็อก และคาดเข็มนิรภัยทุกครั้ง เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและถึงจุดหมาย อย่างปลอดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ตามแผนบูรณาการฯ และคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 โดยเน้นการใช้มาตรการเชิงรุกผ่านกลไกชุมชน/หมู่บ้าน ด้านถนนและสิ่งแวดล้อม เน้นการเฝ้าระวัง สำรวจ ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย และดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะเส้นทางสายรอง ในตำบล/หมู่บ้าน และถนนสายรองที่เชื่อมต่อถนนสายหลัก พร้อมจัดให้มีถนนปลอดภัยตามมาตรการ "1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" โดยกำหนดพื้นที่กวดขันการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนด้านผู้ใช้รถใช้ถนน ได้คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำ สำหรับการดำเนินมาตรการด้านยานพาหนะ ให้กวดขันรถกระบะที่บรรทุกน้ำและผู้โดยสารเล่นน้ำท้ายกระบะ พร้อมคุมเข้มมิให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่และโดยสารรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เพิ่มความเข้มข้นในการจัดตั้งด่านชุมชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาและเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่