กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีแก้ไขและปรับปรุงจุดเสี่ยงอันตราย ที่มักเกิดอุบัติภัยในบ้านกับเด็ก โดยทำความสะอาดพื้นบ้าน รวมถึงหมั่นตรวจสอบพื้นพรมให้เรียบเสมอกัน ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องครัว โดยเฉพาะของมีคม ไว้ในที่มิดชิด ใช้วัสดุปูพื้นห้องน้ำแบบที่มีผิวขรุขระ ตรวจสอบราวบันไดให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงจัดทำที่กั้นบริเวณประตูทางออกระเบียงและราวระเบียงแบบปิดทึบ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก หรือศีรษะเข้าไปติดในช่อง ทำให้เกิดอันตรายได้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กส่วนใหญ่อยู่บ้าน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย โดยมีสาเหตุจากความซุกซน ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก และการจัดการสภาพแวดล้อมบ้านไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีแก้ไขและปรับปรุงจุดเสี่ยงอันตรายที่มักเกิดอุบัติภัยในบ้านกับเด็ก ดังนี้ พื้นบ้าน ทำความสะอาดพื้นบ้าน ติดวัสดุกันลื่นบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะ และติดแถบสีหรือไฟส่องสว่างบริเวณพื้นต่างระดับ รวมถึงหมั่นตรวจสอบพื้นพรมให้เรียบเสมอกัน เฟอร์นิเจอร์/เครื่องใช้ในบ้าน ควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ยึดติดเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มได้กับพื้น หรือผนังบ้านอย่างหนาแน่น ไม่วางสิ่งของและเครื่องใช้ซ้อนกันบนหลังตู้หรือที่สูง อุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องใช้ไฟฟ้า ติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หรือใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กเล่นปลั๊กไฟ ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด พร้อมหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมถึงติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ ห้องครัว จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องครัว โดยเฉพาะของมีคมและผลิตภัณฑ์สารเคมีไว้ในที่มิดชิด พ้นจากมือเด็ก อีกทั้งจัดวางภาชนะที่บรรจุของร้อนไว้บนชั้นวางที่มั่นคง เพื่อป้องกันของร้อนลวกเด็ก รวมถึงดูแลไม่ให้เด็กเล่นไม้ขีดไฟหรือเตาแก๊ส เพื่อป้องกันเพลิงไหม้บ้าน ที่สำคัญ ไม่ควรนำสารเคมีอันตรายเปลี่ยนถ่ายใส่ ภาชนะบรรจุอาหาร เพราะหากเด็กนำไปรับประทาน จะได้รับอันตราย ห้องน้ำ ใช้วัสดุปูพื้นห้องน้ำแบบที่มีผิวขรุขระ และหมั่นทำความสะอาดพื้นห้องน้ำไม่ให้มีคราบสกปรก เพื่อป้องกันการลื่นล้ม พร้อมจัดให้มีฝาครอบปิดภาชนะกักเก็บน้ำ และปิดประตูห้องน้ำให้มิดชิด ป้องกันเด็กเข้าไปเล่นในห้องน้ำ รวมถึงไม่ให้เด็กอาบน้ำหรือเล่นน้ำตามลำพัง เพราะหากเด็กพลัดตกน้ำ จะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน บันได ตรวจสอบราวบันไดให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดทำลูกกรงราวบันไดให้ถี่มากกว่าปกติ บันไดไม่ห่างและชันเกินไป พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณบันได ติดแถบสีและแถบกันลื่นบริเวณขั้นบันได รวมถึงไม่วางสิ่งของกีดขวางทางขึ้น – ลงบันได เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม ระเบียง จัดทำที่กั้นบริเวณประตูทางออกระเบียงและราวระเบียงแบบปิดทึบ โดยให้มีความสูงเกินระดับการเอื้อมถึงของเด็ก หากเป็นแบบลูกกรง ควรเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก หรือศีรษะเข้าไปติดในช่อง ทั้งนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย พร้อมทั้งการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในบ้านกับเด็กได้