กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมระหว่างสำนักและเขต ครั้งที่ 1/2544 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2544 โดยมีรองผู้ว่าราชการกทม. ปลัดกทม. รองปลัดกทม. ผู้ช่วยปลัดกทม. พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนัก และผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เข้าร่วมประชุม
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมระหว่างสำนักและสำนักงานเขตได้มีการประชุมกำชับและติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกทม. โดยเน้นนโยบายการรักษาความสะอาด ซึ่งทางสำนักงานเขตจะต้องปฏิบัติ คือ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเก็บขนและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ซึ่งข้อญัตติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.44 เพื่อสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อมีการกำหนดแนวทางและมาตรการในการจัดเก็บขยะออกมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้เขตฯ จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเก็บขนขยะ เวลาในการจัดเก็บ การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ฯลฯ ต่อไป พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ว่างในเมืองเพื่อเสนอขอจัดทำสวน มีม้านั่ง หินปู และปลูกต้นไม้ บริเวณรอบ ๆ ตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนี้ยังขอให้ทุกสำนักงานเขตเร่งรัดในการดูแลรักษาต้นไม้ให้กลับคืนสู่สภาพสวยงามตามปกติ หลังจากชะลอการบำรุงรักษาในช่วงที่มีการติดป้ายหาเสียงของ ส.ส. เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งจะต้องมีการเพิ่มเวลารดน้ำมากขึ้น รวมทั้งสำรวจต้นไม้ที่ตายและนำไปปลูกทดแทน ดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตรอก ซอยและสะพานลอยไม่ให้มีขยะ ขอทานและผู้ค้า
ปลัดกทม. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ได้ขอให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับข้าราชการกทม. และประชาชน เรื่องสถานการณ์การเงินของกทม. ว่ายังไม่ถึงภาวะวิกฤตตามที่มีการเสนอข่าว แต่เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มงวดแรกประมาณ 3,000 ล้านบาทมายังกทม. ทำให้กทม.ต้องยืมเงินสะสมไปจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการก่อน อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านอื่น ๆ ของกทม. ยังคงเป็นไปตามปกติ เพียงแต่ชะลอการใช้จ่ายในโครงการใหญ่ ๆ เท่านั้น
ส่วนกรณีปัญหาเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เทศกิจนั้น ปลัดกทม.กล่าวว่า ได้ขอให้ทุกหน่วยงานในกทม.มองในภาพรวมทั้งหมดของกทม. ว่าทุกครั้งที่มีผู้เดือดร้อนมาร้องเรียนในปัญหาใด ๆ ก็ตาม เขตฯ จะต้องดำเนินการตรวจสอบ ดูแล ติดตามแก้ไขอย่างจริงจัง และมีคำตอบภายใน 7 วันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขได้อย่างไร แค่ไหน ดังนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ลงพื้นที่ให้มากขึ้น หากมีข้อมูลว่าสิ่งที่ได้รับร้องเรียนนั้นเป็นความจริง หรือน่าจะเป็นไปได้ต้องรีบแก้ไข และจากนี้ไปจะมีการกวดขันเรื่องการดำเนินงานในสายงานบังคับบัญชาให้มากขึ้น--จบ--
-นศ-