กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า การประกาศกำหนดตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในมาตรา 40 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกำหนดตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม จากที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประกาศกำหนดตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน หลายครั้งตามห้วงระยะเวลาต่างๆ เสมอมา
สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประกาศกำหนดตำแหน่ง ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไปเกือบทั้งหมดแล้ว แม้กระทั่งเป็นองค์กรขนาดเล็ก เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้บริหารขององค์กรดังกล่าว ก็มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในส่วนภาครัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ทยอยประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หลายตำแหน่งตามห้วงระยะเวลาต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยในปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินเพิ่มเติม ในทุกกระทรวง ตามประกาศฉบับที่ 4 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2559 มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกกระทรวง ระดับรองปลัดกระทรวง ขององค์กรอิสระ ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. ระดับรองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการสำนัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระดับรองปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนัก เมืองพัทยา ระดับปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา และผู้อำนวยการสำนัก หรือแม้กระทั่งองค์กรศาล ระดับรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ รองประธานแผนกในศาลอุทธรณ์ ก็มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ก็โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะสร้างความโปร่งใส และบรรยากาศการมีคุณธรรม ให้แก่ระบบการเมืองและระบบราชการ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อความมีคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสูง ต้องเป็นผู้นำในการแสดงความโปร่งใสให้ปรากฏต่อสาธารณชน คณะกรรมการป.ป.ช.
จึงได้ให้ความสำคัญต่อตำแหน่งผู้นำในองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับผู้นำองค์กร รองผู้นำองค์กร หรือหัวหน้าหน่วยงาน ระดับสำนัก ที่จะต้องแสดงความโปร่งใส แสดงความมีคุณธรรมจริยธรรม
การประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม ซึ่งมีผลใช้บังคับ ในวันที่ 3 เมษายน 2560 นี้ มีหลายองค์กรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องแสดงความเป็นผู้นำ ในการแสดงความโปร่งใส ต่อระบบราชการ หลายองค์กร ได้แก่
1. สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี
2. สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี
3. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นักบริหารงานท้องถิ่น ระดับสูง), ผู้อำนวยการสำนักช่าง (นักบริหารงานช่าง ระดับสูง)
4. เทศบาลนคร ประกอบด้วย ปลัดเทศบาล (นักบริหารงานท้องถิ่น ระดับสูง), ผู้อำนวยการสำนักช่าง (นักบริหารงานช่าง ระดับสูง)
5. เทศบาลเมือง ประกอบด้วย ปลัดเทศบาล (นักบริหารงานท้องถิ่น ระดับสูง), ผู้อำนวยการสำนักช่าง (นักบริหารงานช่าง ระดับสูง)
6. เทศบาลตำบล ประกอบด้วย ปลัดเทศบาล (นักบริหารงานท้องถิ่น ระดับสูง), ผู้อำนวยการสำนักช่าง (นักบริหารงานช่าง ระดับสูง)
7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย จเรตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล, ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี, ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจสอบภายใน, ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, รองผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล, รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมาย และคดี, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9, รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ), นายแพทย์ใหญ่, รองจเรตำรวจ (สบ 7), ผู้บังคับการกองพลาธิการ, ผู้บังคับการกองโยธาธิการ, ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ, ผู้บังคับการกองทะเบียนพล, ผู้บังคับการกองสวัสดิการ, ผู้บังคับการ กองคดีอาญา, ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้, ผู้บังคับการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด 1 - 4, ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด, ผู้บังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด, ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 - 4, ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 - 4, ผู้บังคับการตำรวจสื่อสาร
การประกาศกำหนดตำแหน่งครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 โดยผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 ซึ่งต้องยื่นบัญชีฯ ภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ สามารถยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักทะเบียนและพัฒนาระบบตรวจสอบ โทรศัพท์ 0 2528 4800 ต่อ 4439 หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การยื่นบัญชีฯ ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน