กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนในหัวข้อ "วันอนุรักษ์มรดกไทย" สำคัญอย่างไร ช่วงระหว่างวันที่ 8–24 มีนาคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,810 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่า ร้อยละ 74.31 ทราบว่าวันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในการสร้างสรรค์และรักษามรดกของชาติด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ตกทอดไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานและเป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย"
ทั้งนี้ผลสำรวจนี้ยังพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนร้อยละ 76.72 มองว่ามรดกไทยประเภทโบราณสถาน มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 74.26 โบราณวัตถุ ร้อยละ 63.84 คุณค่าประเพณีไทย/ท้องถิ่น นอกจากนี้ประชาชน ร้อยละ 77.43 มีข้อเสนอแนะว่าโบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นมรดกไทยที่จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้ รองลงมาร้อยละ 68.20 วิถีชีวิตไทย/พื้นบ้าน และร้อยละ 60.18ประเพณีท้องถิ่น
นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 64.59 ทราบว่า วธ.มีการจัดกิจกรรม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2560 โดยมีการจัดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับงานมรดกศิลปวัฒนธรรม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้ง วธ.โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมรณรงค์การดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันอนุรักษ์มรดกไทยในระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน 2560
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันผลสำรวจได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ต้องการให้ วธ. จัดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พบว่า ร้อยละ 66.15 กิจกรรมให้ความรู้ รณรงค์ และเผยแพร่ด้านวัฒนธรรมและประเพณีไทย อาทิ ประเพณีพื้นบ้านในภาคต่างๆ เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 63.39กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น อาทิ การจัดแสดงโขนในต่างจังหวัด การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค และการแสดงนาฏศิลป์ไทย เป็นต้น และร้อยละ 42.50 เห็นว่า ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีไทย และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ วิถีชีวิต รณรงค์เรื่องการแต่งการแบบไทยย้อนยุคไทยโบราณ เป็นต้น
ส่วนอีกร้อยละ 40.08 เสนอให้จัดกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์การขับร้องเพลง เล่นดนตรีไทย และดนตรีไทยร่วมสมัย เช่น การจัดประกวดการแสดงโชว์และร้อยละ 33.57 กิจกรรมพาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวไทย เช่น การเที่ยวชม การอนุรักษ์ การทำความสะอาดและดูแลรักษาโบราณสถาน เป็นต้น