กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.จัดฝึกอบรมหลักสูตร "Thai Medical Response to Major incident Simulation Training (ThaiSim) ดอนเมือง" เตรียมความพร้อม รับมืออุบัติภัยในสนามบิน แก้ปัญหาระบบประสานงาน เน้นทำงานร่วม ทีมแพทย์-กู้ภัย-โรงพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน
ปัจจุบันสถิติการเกิดอุบัติภัยขนาดใหญ่โดยเฉพาะกับในสนามบินแม้จะมีการเกิดเหตุในอัตราที่ไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นครั้งใด นั่นหมายถึงความเสียหายที่รุนแรงด้วยเหตุนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ฝ่ายการแพทย์บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลกรุงเทพ และภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินเขตในกรุงเทพมหานคร อาทิ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลต่างๆ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จัดกิจกรรม "โครงการฝึกปฏิบัติการตอบสนองทางการแพทย์ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Thai Medical Response to Major incident Simulation training (ThaiSim) ในเขตพื้นที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยในสาธารณภัยขนาดใหญ่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์จริงได้
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติระบุว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมการรับมือกับอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นในสนามบินทุกทุกๆ แห่ง โดยการฝึกครั้งนี้เราเริ่มที่สนามบินดอนเมือง ทั้งนี้การเตรียมการรับมือกับอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นในสนามบินนั้นสิ่งที่ต้องมีการพัฒนา คือ การประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซี่งการฝึกปฏิบัตินี้ประยุกต์มาจากแนวคิดเริ่มต้นมาจากการฝึกแบบ MACSIM หรือ Mass Casualty Simulation System ของประเทศสวีเดน และได้มีการพัฒนาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จนเป็นหลักสูตร "ThaiSim"
" จุดเด่นของการฝึกปฏิบัติลักษณะนี้ คือ สามารถฝึกซ้อมภายในอาคารได้ และฝึกพร้อมกันทั้งหมด ภายในเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฝึกประมาณ 40-50 คน โดยจำลองสถานการณ์ด้วยการใช้สมมุติฐานที่อาจเกิดขึ้นจริงผ่าน แผ่นการ์ดผู้ป่วย (Patient Card) การคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการฝึกครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ ในแผ่นการ์ดผู้ป่วยที่ใช้จะระบุเพศ อายุ และอาการบาดเจ็บต่างๆของผู้ประสบภัย สติความรับรู้ ลักษณะบาดแผลของผู้ป่วย และทดลองการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยใช้ระยะเวลาจริง จากจุดเกิดเหตุส่งต่อผ่านหน่วยงานไหนบ้าง ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ กว่าจะถึงโรงพยาบาลใกล้เคียง ซึ่งการฝึกปฏิบัตินี้ เป็นการบูรณาการฝึกแบบเป็นระบบ เริ่มเหตุการจากจุดเกิดเหตุแล้วส่งต่อผู้บาดเจ็บไปจนถึงการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล การฝึกนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่า ทำอะไรไม่ได้ มีช่องว่างอยู่ที่ใด ฝึกการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกซ้อมปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองทางการแพทย์ต่อสาธารณภัยในประเทศไทย โดยรูปแบบของการฝึกนี้หน่วยงานอื่นๆ ที่มีคนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาทิ สถานีขนส่งผู้โดยสาร รถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ หรือรถไฟใต้ดินก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหากเกิดอุบัติภัยได้ " ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.ไชยพร ยุกเซน อาจารย์แพทย์ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญของ ThaiSim คือการฝึกการประสานงานการติดต่อสื่อสารของทีมต่างๆ ไม่เน้นการปฏิบัติในแง่ของการรักษาพยาบาล แต่เน้นการกำหนดโครงสร้างของการประสานงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสาธารณภัยมากขึ้น
"ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่น การฝึกในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในสนามบินมีความเรียบร้อย แต่ปัญหาอยู่ที่การส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก อีกทั้งที่ผ่านมาการส่งตัวผู้ป่วยมักจะกระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลที่ใกล้สุด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียประสิทธิภาพในการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้นการกระจายผู้ป่วย รวมถึงการประสานงานของศูนย์เอราวัณในการส่งต่อผู้ป่วย มีความสำคัญมากหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง" ผศ.นพ.ไชยพร กล่าว
ขณะที่ นพ.พุทธพร ม่วงประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนเวชศาสตร์การบิน ฝ่ายการแพทย์ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองมีแผนฉุกเฉินอยู่แล้วในการรับมือการเกิดภัยพิบัติ แต่ไม่เคยฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างทางการแพทย์ และทีมกู้ภัยโดยตรง ครั้งนี้เน้นบุคคลทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งสามารถเรียนรู้การคัดแยกผู้ป่วย การรักษาพยาบาล มากกว่าการซักซ้อมปกติ นอกจากนี้ยังมีการเชิญ หน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาลภูมิพล สถาบันเวชศาสตร์การบิน โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้เคียงสนามบิน และศูนย์เอราวัณมาร่วมฝึกซ้อมด้วย ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานประสานงานเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้มีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ThaiSIm เป็นการฝึกการตอบสนองทางการแพทย์ต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเสมือนจริง จะถูกนำไปปรับใช้เป็นแผนการฝึกในอีกหลายสถานที่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติอีกหลากหลายแห่ง เพื่อให้ทีมแพทย์และทีมกู้ภัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเมื่อมีสาธารณภัยเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง