กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ตีฆ้องร้องป่าว
คนทำงานนอกระบบเตรียมเฮ กระทรวงแรงงานเตรียมมอบของขวัญวันแรงงานปรับขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา40 เพิ่มเงินชดเชยการขาดรายได้จากวันละ 200 บาทเป็น 300 บาท และปรับเพิ่มเงินชดเชยการเสียชีวิตจาก 2 หมื่นบาท ดันยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ2560-2567 สร้างข้อตกลงตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 16 จังหวัดเพื่อคุ้มครองสวัสดิการ และรายได้แรงงานนอกระบบทุกประเภท
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 ว่า การสร้างหลักประกันและลดความเหลื่อมล้ำถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่กฎหมายยังครอบคลุมไม่ถึง ปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยประมาณกว่า 21.4 ล้านคน และถือเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ขาดความมั่นคง
ดังนั้นจึงผลักดันให้เกิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการทำงานและเกิดการบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ใช้แรงงานนอกระบบ เพื่อจัดการปัญหาและพัฒนาได้ตรงจุดที่สุด
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่าเป้าหมายในการดำเนินที่จะมีการผลักดันประกอบด้วย 3 เรื่องคือ 1. เรื่องรายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอลคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะ อาชีพ เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนทั้งหมดนั้นมีอยู่ 12.5 ล้าน และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อยู่ในเป้าหมายการเพิ่มทักษะอาชีพได้ถึง 9 ล้านคน
ส่วนเป้าหมายที่ 2. เร่งผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ อาทิวินมอเตอร์ไซด์ เกษตกร แม่ค้าหาบเร่แผงลอย จากเดิมที่กฎหมายคุ้มครองเพียงงานตามบ้าน โดยกฎหมายฉบับนี้จะ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น โดยจะเน้นเรื่องสวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน รายได้ เป็นต้น และ 3. การบริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ โดยจะเน้นการสร้างเครือข่ายแรงงานนอกระบบในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดการตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบในระดับจังหวัด เพื่อใช้เป็นกลไกการเป็นตัวแทน โดยเฉพาะการจัดการสวัสดิการ ทั้งมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม และเพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างแรงงานนอกระบบและกระทรวงแรงงาน
นอกจากนี้ ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่าจะมีการผลักดันให้เป็นของขวัญสำหรับแรงงานนอกระบบให้ทันวันเมเดย์ 1 พ.ค.หรือวันแรงงานแห่งชาติ นั้นจะมีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การปรับอัตราการการทดแทนรายได้จากการว่างงานของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท นอกจากนี้จะพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ
"ระยะสั้นถือเป็นของขวัญให้กับแรงงานนอกระบบ คือการปรับสิทธิประโยชน์ในเรื่องอัตราการทดแทนรายได้จากการว่างงานและสิทธิประโยชน์ กรณีการเสียชีวิต คิดว่าในวันเมเดย์ปีนี้น่าจะทำได้" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม. แกนนำแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 หรือการประกันตนเองของสำนักงานประกันสังคมประมาณ 2 ล้านคนจาก 21 ล้านคน ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะเรื่องความสะดวกในการไปจ่ายเงินสมทบ เพราะส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อาจจะไม่ค่อยสะดวกเดินทางไปส่งเงินสมทบ ดังนั้นอยากขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาการจัดตั้งหน่วยบริการระดับชุมชนด้วยโดยให้ภาคประชาขนทท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
นางสุจิน เห็นว่า ควรจะมีการพัฒนาขยายสิทธิประโยชน์มาตรา 40 ตามกกหมายประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนในมาตรา อื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังอยากเห็นการผลักดัน แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 2560-2564 ให้เกิดการบูรณาการและมีแผนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยการจัดตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบในจังหวัดต่างๆเพื่อให้เกิดศูนย์ประสานงานในการผลบักดันคุ้มครองแรงงานนอกระบบในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นางพัฒนา ช่วยศรี แรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น เห็นว่า การผลักดันให้เกิดรูปธรรม น่าจะเป็นเป้าหมายเพราะที่ผ่านมาการเขียนแผนงานกว้างๆ ไม่มีแผนปฏิบัติจะส่งผลกระทบกับกลุ่มแรงงานนอกระบบมากกว่า จึงอยากเห็นเครื่อข่าย หรือศูนย์สานงาน ของแรงงานนอกระบบเพื่อให้เปิดการประสานงาน ช่วยเหลือ และผลักดันการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามเวทีระดมความคิดเห็นและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560-2564 ได้ผลักดันแผนงานอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาให้ได้จังหวัดต้นแบบในการดำเนินการสร้างเครื่อข่ายแรงงานนอกระบบ ทั้งหมด 16 จังหวัดในปีแรก หลังจากนั้นจะผลักดันให้เกิดโมเดลต้นแบบดังกล่าว เกิดขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ