กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ปตท.
ประสานความร่วมมือ "ประชารัฐ" พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และแหล่งรวมกำลังคนระดับภูมิภาคจนถึงระดับประเทศ บนที่ดิน 3,000 ไร่
เช้าวันนี้ (5 เมษายน 2560) พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมเป็นเกียรติใน "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" ณ ห้องประชุมอาคารที่พักผู้โดยสาร การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามความร่วมมือการใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ของ ปตท. เพื่อสนับสนุนการพัฒนา "เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi)"
ปตท. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเล่ย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และ สถาบันวิทยาสิริเมธี ให้เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม โดยผนวกแนวคิดทางด้านนวัตกรรม (Innovation) และระบบนิเวศ (Eco System) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่ง ปตท. ได้ก่อสร้างแนวถนนหลัก รวมถึงจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว
ทั้งนี้ ปตท. และ สวทช. จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์วิจัยแห่งนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตระดับห้องปฏิบัติการไปสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นทางถึงปลายทาง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการพัฒนาร่วมกับ สวทช. บนพื้นที่ประมาณ 350 ไร่ และการพัฒนาพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่
1. พื้นที่กลุ่มอาคารงานวิจัยและทดสอบ (Buildable Area & Test Bed) พัฒนาโดย สวทช. เป็นหลัก โดยมีบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล กรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุน
2. พื้นที่ส่วนกลางและการพาณิชย์ (Recreation Area & Commercial Zone)
3. พื้นที่พัฒนาเพื่อความยั่งยืนและพื้นที่สีเขียว (Sustainable and Usable Green Area)โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้ง Solar farm เพื่อผลิตพลังงานใช้ภายในพื้นที่
นายณรงค์ กล่าวว่า "ขอขอบคุณความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและวิจัย ภาครัฐ เอกชน และประชารัฐ ที่ได้สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการพัฒนา EECi ทั้งส่วนของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปตท. รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ ร่วมศึกษาวิจัย สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในเขตพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน (Asean Innovation Hub) ในอนาคต และตอบโจทย์ไทยแลนด์4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป"
นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปตท. พร้อมให้ความสนับสนุนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตามกรอบความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและผลักดันให้ EECi บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประชารัฐอย่างเป็นเอกภาพ โดยในพื้นที่ส่วนที่ 2 และ 3 ยังเปิดพื้นที่ให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป"