กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--นานมีบุ๊คส์
ทฤษฎี EF หรือ Executive Functions ที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นทฤษฎีที่สำคัญในการพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย ฉะนั้นจะดีแค่ไหนหากคุณพ่อคุณแม่ สามารถนำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้กับลูกน้อย ได้เกิดประโยชน์สูงสุดนานมีบุ๊คส์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำทฤษฎี EF มาประยุกต์ใช้ในครอบครัว จึงได้จัดกิจกรรม "เล่นกับลูกอย่างไรจึงจะได้ EF" โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาการของเด็ก ครูก้า กรองทอง บุญประคอง มาให้คำแนะนำ
ครูก้า กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ กล่าวถึงความสำคัญของการนำทักษะ EF มาใช้ในการเลี้ยงลูกว่า "การที่เรารักและหวังดีกับลูก แต่ไม่รู้จะเลี้ยงดู หรือเปิดโอกาสให้เขาอย่างไร เพื่อให้เขาเข้าใจคุณค่าในชีวิต ฉะนั้นหากผู้ปกครองได้รู้จักทักษะสมอง EF มันจะช่วยในการจัดการกาลเวลาแห่งการเติบโตของลูกให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นกิจกรรมในครั้งนี้จะทำช่วยผู้ปกครองตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนอย่างไร และควรเอาความรู้ EF ไปใช้อย่างไรให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้"
กิจกรรม "เล่นกับลูกอย่างไรจึงจะได้ EF" ได้แบ่งกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก คือ ปูพื้นฐานเบื้องต้นให้คุณพ่อและคุณแม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของทฤษฎี EF ซึ่งเป็นกระบวนการในสมองส่วนหน้าของมนุษย์ทุกคน ที่ใช้ในการคิด รู้สึก และกำหนดการกระทำ จนกระทั่งฝึกฝนพัฒนาเป็นทักษะสมอง รวมถึงคำแนะนำการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ เพื่อไปสู่เป้าหมายชีวิตระยะยาว หลังจากนั้นจึงให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้โดยลงมือทำจริง learning by doing เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจโลกของเด็ก ผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวไปกับเสียงดนตรี กิจกรรมศิลปะจากไม้ไอติม โดยสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการ ปิดท้ายด้วยการอ่านนิทานภาพเพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกรัก
ด้านคุณพ่อและคุณแม่ที่เห็นความสำคัญของทฤษฎี EF เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ได้แชร์ประสบการณ์หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมว่า
คุณนมิตรไชย ไชยพรพิสิฐ – คุณพ่อน้องพร้อม วัย 6 ขวบ เปิดเผยว่า "ผมกำลังมองหาวิธีการร่วมกิจกรรมกับลูก ไปพร้อมกับการฝึกทักษะให้กับเขา จึงคิดว่าทฤษฎี EF จะช่วยเสริมสร้างทักษะเหล่านี้ได้ และคำแนะนำของครูก้าช่วยสร้างความเข้าใจภายในครอบครัวได้อีกด้วย เช่น ตัวเราเองใช้ชีวิตแบบมีข้อจำกัด จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาลงกับลูกไม่ได้ ทฤษฎี EF ไม่เพียงแต่นำมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกแล้ว ยังช่วยให้ผมเข้าใจตัวเองและลูกมากยิ่งขึ้น ต่อไปจะตัดสินใจโดยไม่เอาตัวเองเป็นหลัก คิดว่าแนวคิดนี้จะทำให้ผมมีความสุขกับการที่เห็นเขาเติบโตขึ้นมา อย่างที่เขาแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่"
คุณกษมา วิริยะขัตติยาภรณ์ - คุณแม่น้องโอมวัย 3 ขวบ กล่าวว่า "กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง EF คิดว่าเป็นทฤษฎีที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าทุกวันนี้เราพบแล้วว่า การศึกษาในระบบไม่เพียงพอแล้ว เราเป็นคุณแม่ที่ให้น้องเรียนรู้แบบ Home School เรารู้สึกว่า EF คือทางออกว่าลูกเราจะอยู่ในระบบสังคม หรือระบบการศึกษาได้อย่างไร จึงกลับมาโฟกัสจุดนี้เป็นพิเศษ กิจกรรมวันนี้ทำให้เห็นภาพของ EF ชัดเจนขึ้นและได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่สามารถนำไปเล่นกับลูกได้ที่บ้าน สิ่งที่ประทับใจครูก้าในวันนี้คือ ครูก้าเป็นคนที่มีพลังด้านบวกเยอะมาก เรารู้สึกว่าเขาให้แนวทางในการแก้ปัญหา ที่เราอาจมองข้าม เหมือนครูก้าชวนให้เราเข้าไป เข้าใจเด็กจริงๆ ว่าเขาคิดอะไร เขามีปัญหาอะไร ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น"
ครูก้า ยังให้คำแนะนำผู้ปกครองเพิ่มเติมว่า "ถ้าผู้ปกครองตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนอย่างไร เช่น บางคนว่าเราอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนดี ไม่เป็นภาระของสังคม อยากเห็นลูกเติบโตอย่างมีความสุข และมีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าเราตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน จะทราบว่าควรเอาความรู้ EF ไปใช้อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายอย่างไร คุณพ่อคุณแม่จะพบว่า จริงๆ ถ้าให้โอกาสเด็กๆ ด้วยการฝึกพัฒนาทักษะ EF ในที่สุดเด็กก็จะพัฒนาทักษะตนเอง ตามที่พ่อแม่หวังดีได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว วันนี้จึงเป็นการชวนพ่อแม่ตั้งสติ ว่าตกลงเราอยากเห็นลูกเป็นคนอย่างไร และโอกาสที่ลูกได้รับ จะสามารถพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ไหม ถ้าเราเข้าใจทักษะ EF จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้ด้วยตัวของเด็กเองถ้าเด็กมีทักษะตรงนี้ เมื่อเรามีความเข้าใจ ทฤษฎี ตั้งสติและเป้าหมายชัดเจนแล้ว เราจะเข้าใจมันเชิงลึกได้อย่างไร ปฏิบัติเป็นอย่างไร เมื่อถึงบ้านแล้วเราจะเป็นผู้ส่งเสริมให้ลูกมีทักษะเหล่านี้"
กิจกรรมการเล่นมีผลต่อพัฒนาของลูกน้อย เพราะการเล่นสำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ถือว่าเป็นประสบการณ์สำคัญจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ คุณพ่อและคุณแม่จึงไม่ควรละเลยการเล่นกับลูกด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม รวมถึงเปิดกว้างอิสระทางความคิดและจินตนาการให้โลดแล่น เพื่อการพัฒนาสมองของลูกรักอย่างยั่งยื่น
สำหรับผู้ปกครองที่สนใจกิจกรรมเพื่อพัฒนาลูกน้อย นานมีบุ๊คส์ได้จัดกิจกรรมสำหรับครอบครัวตลอดทั้งปี โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.nanmeebooks.com และ www.facebook.com/nanmeebooksfan หรือ line @nmbparent สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2662-3000 ต่อ 5226, 4425, 4441