สผ.เผยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปี 43 ยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 26, 2000 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กทม.
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เผยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปี 2543 มีการสูญเสียและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง แต่กรมป่าไม้ประเมินพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 109 ล้านไร่ จึงเตรียมตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ส่วนน้ำ มีการใช้น้ำบาดาลมาก ทำให้กรุงเทพฯ ทรุด ขณะที่มีปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่งทะเล เร่งทุ่มงบฯ 25 ล้าน วางแผนทางวิศวกรรมแก้ไข ป้องกันการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 13 (13) กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลและใช้ประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจการจัดทำนโยบายและวางแผนจัดทำคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเทศ ซึ่ง สผ.ดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพ สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2542 และ 2543 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และรายงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเลขาธิการ สผ.กล่าวว่า สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2543 ยังมีการสูญเสียและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดลงของทรัพยากรป่าไม้ แต่ทั้งนี้มีข้อมูลจากกรมป่าไม้ประเมินพื้นที่ป่า ในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็น 109 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.96 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นว่า จำเป็นจะต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เพราะตัวเลขที่กรมป่าไม้รายงานมาจากการประเมินทางเทคนิค ต้องมีการสำรวจสภาพพื้นที่จริงว่า พื้นที่เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
ส่วนทรัพยากรน้ำพบว่า มีการใช้น้ำบาดาลมากทำให้กรุงเทพมหานครยังมีการทรุดตัวลง อยู่เรื่อย ๆ ทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรงขึ้นหลายบริเวณ เช่น บริเวณตั้งแต่ ปากแม่น้ำท่าจีนจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา คุณภาพน้ำชายฝั่งบางพื้นที่เสื่อมโทรม เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ปากคลองบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และชายหาดที่สำคัญ เช่น หาดป่าตอง มีผลกระทบต่อการสูญหายของพื้นที่บริเวณชายฝั่ง ผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนชายฝั่งและการท่องเที่ยว ทาง สผ. ได้มีการประมวลปัญหานำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมทั้งคณะกรรมการกองทุน สิ่งแวดล้อม เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญ จึงมีการผลักดัน และภาครัฐได้มีการอนุมัติงบประมาณ ๒๕ ล้านบาท มาดำเนินการศึกษา รวมทั้งออกแบบทางด้านวิศวกรรม เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่สำคัญจะต้องให้มีการศึกษาและทำงานในทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ทรัพยากรประมง ถูกนำมาใช้อย่างเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ จนทำให้ทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทยมีสภาพเสื่อมโทรม ปริมาณการจับสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนคุณภาพน้ำ พบว่า แม่น้ำสายสำคัญมีคุณภาพน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำที่ควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น กว๊านพะเยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำลำชี และทะเลสาบสงขลา ส่วนคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ของเสียอันตรายยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะยังมีการนำของเสียอันตรายไปทิ้งกระจัดกระจายไม่เป็นที่ และมีจำนวนที่บำบัดได้ยังเป็นส่วนน้อย จึงมีของเสียอันตรายจำนวนมากทิ้งไว้ในที่ว่างเปล่า
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ในภาพรวมของสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปี 2542 และ 2543 พบว่า ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมยังคงต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง แม้จะดีขึ้นบ้างแต่ก็อยู่ในอัตราที่น้อยมาก ดังนั้น รายงานปี 2543 ได้พยายามเน้นประเด็นเรื่องจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อการจัดการทรัพยากร โดยพิจารณาถึงกลไกทางสังคม เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่า ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตร จะได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น
สำหรับปัญหาเร่งด่วนในปี 2542 และ 2543 คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากรดินและการใช้ ที่ดินยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิต ยังคงมีปัญหาในเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน ความเสื่อมโทรม ในข้อเสนอแนะเห็นว่า ควรมีการกันเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เป็นระบบ นอกจากนี้ ในเรื่องฐานข้อมูลยังมีความหลากหลายของแต่ละหน่วยงานมาก จึงเสนอว่า ควรจะมีการจัดทำฐานข้อมูลดิน ให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อสามารถวางแผนได้ถูกต้อง
ส่วนเรื่องน้ำในแม่น้ำสายหลักที่ยังมีปัญหาอยู่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่กลอง และท่าจีน จะต้องมีการเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาในการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ บริเวณริมแม่น้ำ ที่ต้นกำเนิดมลพิษ รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนด้วย รวมทั้งมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ ปัญหากากของเสียอันตราย โดยจะต้องเข้มงวดการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยสร้างเครือข่าย และให้มีการรายงานต่อสาธารณะ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานรักษาสิ่งแวดล้อมของกิจการโรงงาน และส่งเสริม การลงทุน การแข่งขันในระบบการจัดการกำจัดของเสียด้วยมาตรการภาษี มาตรการรัฐร่วมทุน โดยรัฐจัดหา สถานที่และเปิดเสรีในการลงทุนให้กับเอกชน--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ