กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ประชาชน 86.71% ระบุในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเคยถูกรถแท็กซี่ในระบบปฏิเสธการไปส่งอย่างน้อย 1 ครั้ง ขณะที่ร้อยละ 71.21 เชื่อว่ามาตรการจับผู้ขับขี่รถแท็กซี่เรียกผ่านแอปจะไม่มีส่วนทำให้ผู้ใช้บริการลดลง แต่ร้อยละ70.02 ระบุว่าหากมีการแก้ไขปัญหาต่างๆของรถแท็กซี่ในระบบจะมีส่วนทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบมากขึ้น
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 มีนาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,160 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า รถแท็กซี่สาธารณะจัดเป็นบริการขนส่งสาธารณะหลักที่มีให้บริการอยู่ตามเมืองใหญ่ๆทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครและซึ่งเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้คน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริการขนส่งสาธารณะที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะเดียวกันในปัจจุบันบริการรถแท็กซี่สาธารณะได้มีการพัฒนารูปแบบโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้นั่นคือบริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสามารถเลือกเวลาเดินทางและไม่ต้องเสียเวลายืนรอรถแท็กซี่อีกต่อไป รวมถึงยานพาหนะที่นำมาให้บริการมีความใหม่และสะอาด ผู้ขับขี่มีท่าทางสุภาพเรียบร้อยจึงทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้คนในเมืองต่างๆมากขึ้นรวมถึงในกรุงเทพมหานครซึ่งมีการเริ่มให้บริการดังกล่าวมาประมาณ 3 ปีแล้ว ประกอบกับผู้คนเริ่มประสบปัญหาจากการใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะในระบบ เช่น การปฏิเสธการรับผู้โดยสาร พฤติกรรมการโก่งราคาและกิริยามารยาทที่ไม่สุภาพของผู้ขับขี่ รวมถึงสภาพของยานพาหนะที่เก่า จึงทำให้บริการรถแท็กซี่เรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมจากผู้คนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตามบริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบันยังคงเป็นบริการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากผู้ให้บริการได้นำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาให้บริการและผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในระบบได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกลุ่มรถแท็กซี่ที่ให้บริการเรียกผ่านแอปพลิเคชันอย่างเด็ดขาด แต่ผู้คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาที่ผู้ใช้บริการพบจากการใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้บริการรถแท็กซี่เรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่แทน
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.68 และเพศชายร้อยละ 49.32 อายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบคือ แท็กซี่ในระบบปฏิเสธให้บริการคิดเป็นร้อยละ 84.33 ให้บริการไปส่งถึงยังจุดหมายปลายทางคิดเป็นร้อยละ 82.11 ผู้ขับขี่มีมารยาท/สุภาพอ่อนน้อมคิดเป็นร้อยละ 79.73 มีความปลอดภัยในการใช้บริการคิดเป็นร้อยละ 77.09 และต้องใช้เวลารอเรียกแท็กซี่ในระบบนานเกินไปคิดเป็นร้อยละ 73.85
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของรถแท็กซี่ในระบบ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.71 ระบุว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ตนเองเคยประสบปัญหาถูกรถแท็กซี่คันแรกปฏิเสธการให้บริการไปส่งยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการไปอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.29 ระบุว่าไม่เคยเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.82 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันจำนวนรถแท็กซี่ในระบบที่มีให้บริการอยู่มีความเพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.34 ไม่เชื่อว่าในปัจจุบันมีรถแท็กซี่ในระบบเพียงแค่ 1% ที่มีพฤติกรรมปฏิเสธการรับผู้โดยสาร
ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาต่างๆที่พบจากการใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.02 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันปัญหาต่างๆของการให้บริการรถแท็กซี่ในระบบ เช่น การปฏิเสธการให้บริการ การฉ้อโกง/โก่งราคา พฤติกรรม/มารยาทของผู้ขับขี่ เป็นต้น ยังคงมีเท่าๆกับในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 35.69 มีความคิดเห็นว่ามีมากกว่าในอดีต ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.29 มีความคิดเห็นว่าลดน้อยลงกว่าในอดีต
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.71 ทราบว่าบริการแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันยังคงเป็นบริการที่ผิดกฎหมาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.29 ยอมรับว่าไม่ทราบ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.02 มีความคิดเห็นว่าหากมีการแก้ไขปัญหาต่างๆในการให้บริการของรถแท็กซี่ในระบบ เช่น การปฏิเสธการให้บริการ การฉ้อโกง/โก่งราคา มารยาท/พฤติกรรมของผู้ขับขี่ เป็นต้น อย่างจริงจังจะมีส่วนทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบแทนการใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.04 มีความคิดว่าหากมีการยกระดับคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ในระบบ เช่น ความสุภาพอ่อนน้อมของผู้ขับขี่ การประเมินคุณภาพผู้ขับขี่ การติดตั้งระบบตรวจสอบติดตามรถ เป็นต้น จะมีส่วนทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบแทนการใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 71.21 มีความคิดเห็นว่ามาตรการจับผู้ขับขี่รถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันจะไม่มีส่วนทำให้ผู้คนที่หันไปใช้บริการดังกล่าวแทนการใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบลดจำนวนลง
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการปราบปรามกลุ่มรถแท็กซี่นอกระบบเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการบริการ/พฤติกรรมของกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในระบบนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.37 ระบุว่าควรใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการบริการ/พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในระบบ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.84 มีความคิดเห็นว่าควรใช้ปราบปรามกลุ่มรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.79 ระบุว่าทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน
ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดการเกี่ยวกับบริการรถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.73 เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่รถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นผู้ได้รับอนุญาติขับขี่รถสาธารณะอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.26 เห็นด้วยถ้าจะมีการกำหนดจุด/สถานที่เป็นการเฉพาะให้รถแท็กซี่นอกระบบเรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.71 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาติให้ระบบรถแท็กซี่เรียกผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการเสรีที่ถูกต้องตามกฎหมายจะส่งผลให้คุณภาพการบริการของรถแท็กซี่ระบบดังกล่าวลดลงกว่าในปัจจุบัน