กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง และการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพื้นที่การเกษตรด้วยนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จึงดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งปัญหาหมอกควันใน 9จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ตาก พะเยาและแม่ฮ่องสอนอย่างเร่งด่วน
นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า จากการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งหมอกควันในวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ประสบปัญหา โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก ปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดลำพูนและลำปาง โดยใช้อากาศยานชนิดCASA จำนวน 2 ลำ ซึ่งผลจากการปฏิบัติการพบว่า สามารถยับยั้งปัญหา หมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัด รวมพื้นที่เป้าหมายในภาคเหนือได้ คือ พื้นที่ประสบปัญหาในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา และตาก มีค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศ หรือPM10 อยู่ที่ 41 – 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (25 มีนาคม 2560)มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งลดลงจากระดับที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนที่ 121 – 350 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (24มีนาคม 2560) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน ที่ยังประสบปัญหาหมอกควันอยู่ โดยมีค่า PM10อยู่ที่ 168 และ 143 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเร่งดำเนินการช่วยบรรเทาต่อไป
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในด้านการปฏิบัติการสลายลูกเห็บ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร แบ่งการปฏิบัติการออกเป็น 2 ภารกิจ โดยเน้นปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ และช่วยแจ้งเตือนสถานการณ์ที่จะเกิดลูกเห็บในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการติดตามสภาพอากาศจาก เรดาห์ตรวจอากาศและแจ้งข่าวสารผ่านอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ให้กับประชาชนด้วย และขอให้ประชาชนที่อาจประสบปัญหาหมอกควัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมหรือสวมหน้ากากปิดจมูก ส่วนพื้นที่ที่ประสบปัญหาพายุลูกเห็บ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งและใต้ต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ที่ เพจ Facebookกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร