กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมประมง
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า "โพงพาง" ถือเป็นเครื่องมือทำการประมงที่มีศักยภาพสูงในการทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ อีกทั้งลักษณะการใช้งานของเครื่องมือโพงพางยังเป็นการ
กีดขวางและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ รวมถึงการสัญจรทางน้ำ และยังทำให้ร่องน้ำทางเดินเรือและบริเวณปากแม่น้ำต่าง ๆ ตื้นเขินรวดเร็วอีกด้วย
โดยทั่วไปโพงพาง มี 3 ประเภท คือ โพงพางหลัก โพงพางใต้น้ำ และโพงพางปีก ซึ่งมีชนิดประจำที่กับเคลื่อนที่ได้ แต่ที่พบมากที่สุดคือ โพงพางหลัก ซึ่งจะใช้อวนที่มีความยาวจากปากอวนถึงก้นถุงประมาณ 25–50 เมตร และความกว้างของปากจะใหญ่และค่อย ๆ ไล่เล็กลงมาตามลำดับ ยึดอยู่กับเสาหลัก 2 ต้น
ส่วนขนาดความสูงของปากอวนใกล้เคียงกับระดับความลึกของลำน้ำช่วงขึ้นสูงสุด ประมาณ 6–8 เมตร เรียงกันเป็นแถว 6-10 ช่อง การดักโพงพางทำได้โดยใช้ปากอวนขนาดใหญ่ผูกติดกับเสาหลักในลักษณะหันปากอวนรับกระแสน้ำ ส่วนตัวอวนจะสอดเข้ากับไม้แล้วปักลงในดิน จึงดูเหมือนถุงขนาดใหญ่ที่เปิดปากอ้า เมื่อกระแสน้ำไหลก็จะพัดเอาสัตว์น้ำผ่านเข้าไปติดในถุงอวน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นช่วงค่ำคืน พอรุ่งเช้าก็ขึงกู้ก้นอวนขึ้นมาจับสัตว์น้ำที่ได้ไปจำหน่ายแล้วจึงมัดก้นถุงวางไปใหมด้วยลักษณะของวิธีการจับสัตว์น้ำแบบดังกล่าว โพงพางจึงเป็นเครื่องมือประมงที่สามารถทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง โดยผิดกฎหมายตามมาตรา 67 (1) แห่ง
พระราชกำหนดการประมง 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทาการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ทั้งนี้ กรมประมงจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างผิดวิธี ด้วยการกำหนดมาตรการ ขั้นตอนและวิธีการ ในการแก้ไขปัญหาโพงพางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงโพงพางเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมาย เช่น แห ข่าย ลอบ เบ็ด ฯลฯ หรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นกิจการอื่นๆ เช่น การค้าขาย และงานบริการ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
สำหรับชาวประมงโพงพางที่ประสงค์จะทำการปรับเปลี่ยนอาชีพ ภาครัฐได้มีนโยบายในการสนับสนุนเงินทุน ในโครงการสินเชื่อประมงไทยก้าวไกลสู่สากล เพื่อช่วยเหลือชาวประมงตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะทำการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว เป็นเวลา 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ต่อปี มีระยะปลอดเงินต้นและดอกเบี้ยในปีแรก เริ่มชำระในปีที่ 2 เพื่อเปลี่ยนจากอาชีพโพงพางเป็นอาชีพอื่น เช่น ค้าขาย เป็นต้น ทั้งนี้ชาวประมงโพงพางที่ได้รื้อถอนเครื่องมือแล้วสามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2560 นี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสินประจำจังหวัด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป